ออยพูลลิ่ง หมายถึงการกลั้วกลอกปากด้วยน้ำมัน…น้ำมันที่ใช้อาจเป็นน้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว VCO
กลไกการออกฤทธิ์ที่อธิบายสรรพคุณได้ก็คือ แบคทีเรียเชื้อโรคส่วนใหญ่มีผนังเซลล์เป็นไขมัน เมื่อถูกแช่ในน้ำมัน ไขมันก็ควรหลอมละลายเข้าด้วยกัน ซึ่งหากผนังเซลล์ละลายสลายไป ผลก็คือ ตาย ครับ
ก็นับเป็นวิธีการทำความสะอาดช่องปากง่ายๆ ประการหนึ่ง การจะให้เข้าถึงทุกซอกทุกมุมในช่องปากนั้นก็ต้อง ออกแรงกลั้วปากไปเรื่อยๆ โดยผู้รู้แนะนำให้ทำเป็นเวลา 15 – 20 นาที …ใครจะตายก่อน ! ที่นี้จะหายหรือไม่หาย…จะได้หรือเสียก็ว่ากันเฉพาะกรณี
ซึ่งก็คงไม่ได้ผลทุกกรณี เช่น เป็นรำมะนาด แมงกินฟันกันเป็นโพรง หรือเหงือกอักเสบเป็นหนอง มีแผลตุ่มอักเสบ เจ็บ ปวด แล้ว…อันนี้รับรองไม่ได้ผลครับ
เพราะน้ำมันที่กลอกกลั้วไม่มีทางเข้าถึงเชื้อโรคในฝีหนอง แผลอักเสบได้ ด้วยมีปฏิกิริยาอักเสบ เนื้อเยื่อต่างๆ ที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้ของร่างกาย เกินขั้นที่น้ำมันจะเข้าถึงตัวเชื้อโรคแล้ว คงเป็นการทำความสะอาดซอกฟัน อย่างน้อยเศษอาหารที่ตกค้างก็หลุดออกมา ไม่เป็นอาหารให้แบคทีเรียย่อย ด้วยการย่อยอาหารของแบคทีเรีย มันจะปล่อยน้ำย่อยออกมา พลอยย่อยเคลือบฟันไปด้วย ฟันจะผุก็ตรงนี้ งั้นการออยพูลลิ่งก็น่าจะป้องกันฟันผุได้ประมาณนี้ ก็เหมือนกลั้วน้ำ แปรงฟันให้สะอาดหมดจด จะสะอาดหรือเสียเวลา ก็ว่ากันไป…คงแล้วแต่โอกาส ความเหมาะสม
หากทานอาหารแล้วขึ้นมาขับรถ ออยพูลลิ่งขณะขับรถก็ไม่เลวหรอกครับ ! ส่วนเรื่องช่วยฟันขาว ก็แล้วแต่กรณีอีก ควรเป็นคราบอ่อนๆ ไม่สนิทติดทนมานาน หากคราบฟันติดแน่นเข้าเนื้อใน ก็คงแก้ไขมิได้ กลั้วกลอกอย่างไรก็ไม่ออก ต้องกลอกตา หาเหตุ หาผลครับ
ผู้เขียนเคยประสบปัญหา “ฟันดำ” อยู่เป็นปีๆ ไป “ขูดหินปูน” ก็หายไปพัก เป็นปมด้อยด้านบุคลิกภาพ 2 เดือนก็ต้องไปใหม่ ซึ่งตามมาตรฐานน่าจะ 6 เดือนขึ้นไป จึงจะขูดหินปูนที หมอฟันก็ดุว่า ไม่แปรงฟันหลังอาหาร พอบอกแปรงทุกครั้ง…ท่านก็ว่าแปรงเร็วไป ต้องรอเวลาไว้ 30 นาที ค่อยแปรง เพราะช่วงหลังอาหารใหม่ๆ น้ำลายจะย่อยอาหารพลอยย่อยชั้นเคลือบฟันออกไปด้วย พอแปรงทันทีก็เท่ากับไปซ้ำเติมทำลายเคลือบฟัน ไม่มีสารเคลือบฟันธรรมชาติติดอยู่ ฟันสัมผัสอะไร ก็จึงดำง่าย ผู้ช่วยหมอก็ดุว่าดื่มกาแฟแล้วไม่บ้วนปาก…ก็เถียงว่าไม่ใช่ แถมดูดผ่านหลอดลงคอ (เสียรสชาติหมด) ไม่ได้กลั้วลิ้นโดนฟันด้วยซ้ำ ใช้ยาสีฟันซุปเปอร์ไบร์ทใดๆ ก็ไร้ผล…ฟันสึก เสียวฟันอีกต่างหาก ! กลั้วกลอกฟันด้วยน้ำมันมะพร้าวอยู่เป็นนานก็ไม่เห็นหนทาง แค่นี้ก็ซาบซึ้งในคำกล่าวที่ว่า “อโรคยา มีค่าล้ำเลิศ”…นี่ขนาดมิใช่โรคร้ายแรงอะไรนะ
จนวันหนึ่งขณะเด็ดใบยอเคี้ยวๆ ซึ่งผู้เขียนปฏิบัติมาทุกเช้ากว่า 5 – 10 ปี คือเคี้ยวใบยอสดวันละ 2 – 3 ใบทุกเช้า สังเกตดูเป็นยางเหนียวๆ เหมือนเคี้ยวหมาก (ถ้าเป็นใบมะรุม จะยากกว่านี้) สงสัยว่าอาจเป็นเพราะเหตุนี้ เลยเลิกเคี้ยวอีกต่อไป พร้อมกับไปขูดฟันใหม่…แล้วฟันดำๆ ก็หายไปจนทุกวันนี้ !
ตัวอย่างนี้เข้ากับคำกล่าวที่ว่า ฝีมือหรือหัวใจของวงการแพทย์นั้น อยู่ที่การวินิจฉัยโรค หากวินิจฉัยได้แล้ว ใครๆ ก็เป็นตู้ยารักษาได้ เครดิตของการแพทย์จึงอยู่ที่ผลงานการวินิจฉัย แพทย์ใดมิได้มีกิจกรรมด้านการวินิจฉัย ดูเหมือนว่ายังมิได้ใช้สติปัญญาความรู้ที่อุตสาห์ร่ำเรียนมาคุ้มค่าต่อการเป็นแพทย์ หมอรักษาสิว ฝ้า จึงถูกปรามาสว่า เลือกทำแต่เรื่องชิล ชิลด์ จัดไว้ปลายแถว ! แต่ก็อย่าด่วนสรุปใครสั้นๆ นะครับ !
อีกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด และสังคมรับรู้กันวงกว้าง แต่อาจไม่ลึกซึ้งถึงวงการแพทย์ คือ เรื่องพิษจากกัมตรังสีโคบอลล์ ทำให้มือหรือส่วนที่สัมผัสเน่า เป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆ อยู่พอสมควร กว่าจะรู้ว่าเป็นพิษจากโคบอลล์ แน่นอนว่าผู้ป่วยต้องตระเวนตรวจรักษา กินยาแก้อักเสบน้ำเหลืองเสีย สารพัด ทางการแพทย์ก็ไม่มีการตรวจวินิจฉัยโดยเทคโนโลยีใดๆ ไม่ว่าผลเลือด ผลเอกซ์เรย์ ส่วนใหญ่ก็ควรยกให้โรคที่ชุกชุมไว้ก่อน ต่อเมื่อไม่หายค้นหาสาเหตุแบบแยกโรคที่อาจใช่ออกไป…แล้วฉุกใจที่การซักประวัติว่าผู้ป่วยมีอาชีพเก็บของเก่า คนไข้คงไม่สามารถช่วยบอกหมอได้ว่าไปเก็บแท่งโคบอลล์ที่หมดอายุมา (หมดอายุแต่ไม่ใช่หมดพิษร้าย) ทั้งถือทั้งลูบคลำทั้งแกะ แล้ววินิจฉัยได้อย่างไร… ต้องยกความสามารถพิเศษนี้แก่ นพ.ชัยณรงค์ สมชาติ แพทย์ผู้ให้การวินิจฉัย พอวินิจฉัยได้แล้ว การรักษาทำนายโรค ก็ตามมาเป็นขบวน ค้นตำราได้ครับ !
การวินิจฉัยนั้น อาจโดยแพทย์แผนใด หากมีหลักสมเหตุสมผล ก็ล้วนมีนัยยะ นำมาต่อยอดได้ เช่น การใช้ตำแหน่งลมปราณ พอกดจุดแล้วเจ็บ สัมพันธ์กับประวัติ ก็อาจวินิจฉัยได้ เช่น กรณีโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน การแพทย์แผนไทยอาจมีวิธีกดจุด ช่วยวินิจฉัยได้ง่าย สะดวกและประหยัดกว่า กลับมาเรื่อง “ฟันดำ”… ถ้าวิเคราะห์ทำไมเคี้ยวมาหลายปี ไม่มีฟันดำ…อ๋อ ก็ไปขูดหินปูนอยากให้ฟันขาวเงางาม พอคราบเคลือบฟันไม่มี ถูกสารจากใบไม้เคลือบก็ดำทันที ยิ่งขูดก็ยิ่งเสียเคลือบฟันธรรมชาติ ก็ยิ่งถูกสารอื่นกัดเคลือบได้ง่ายเข้าไปอีก ปกติชั้นเคลือบฟัน เป็นสิ่งปกป้องฟันได้อย่างดี จึงหากไม่มีเหตุจำเป็น อย่าหาเรื่องขูดหินปูนทุก 6 เดือน