จุลินทรีย์ธรรมชาติที่อยู่คู่มนุษย์ เป็นมิตรที่อาศัยให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน เช่น ที่ผิวหนังก็มีแบคทีเรียพื้นฐานอยู่ทั่วไป คอยกีดกันสกัดกั้นเชื้อโรคร้าย อันตรายอื่นๆ มิให้แพร่พันธุ์ขยายปริมาณจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ในลำไส้ก็มีแบคทีเรียดีๆ ซึ่งถ้ามีจำนวนลดไป ก็ปล่อยให้เชื้ออื่นเจริญแทนที่ แบคทีเรียดีมีน้อยก็เอาไม่อยู่ หากเชื้อร้ายปล่อยพิษออกมามากพอ ก็เกิดท้องอืด เฟ้อ ท้องเสีย ถ่ายท้อง ในช่องคลอดก็มีแบคทีเรียดี คอยปกป้องคุ้มครองเป็นเจ้าถิ่น มิให้เชื้อพันธุ์ร้ายขยายจำนวนก่ออักเสบ ตกขาว ตกเหลืองต่างๆ นาๆ
วันดีคืนร้ายแบคทีเรียดีๆ มีอันต้องลดถดถอยไป…จากอะไร…ก็เช่น ฟอก ล้างทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อมากไป กินยาปฏิชีวนะแก้อักเสบ แก้สิว แก้โรคติดเชื้อ หรือมีปฏิชีวนะปนเปื้อนอาหาร เช่น กุ้ง ไก่ สมดุลเสียไป…เชื้อดีๆ ประจำถิ่นก็พลอยถูกฆ่าทำลายไปด้วย
อาหารเป็นพิษ ถ่ายท้อง ก็พาเอาจุลินทรีย์ชั้นดีออกไปมาก
- จุลินทรีย์มีคุณเหล่านี้ เราเรียกว่า โปรไบโอติก (Probiotics) ในลำไส้ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และบิฟิโดแบคทีเรีย(Bifidobacterium) เป็นต้น อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเราแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Symbiosis) โดยเป็นตัวหมัก (fermentation) กากอาหารให้สิ่งดีๆ ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบเลือด
โปรไบโอติก ได้แก่อาหารที่มีจุลินทรีย์ที่ดีมีประโยชน์ เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต น้ำหมักชีวภาพ กิมจิของเกาหลี จิ๊กโฉ่ว ถั่วเหม็นนัตโตะของญี่ปุ่น จุลินทรีย์เม็ด จุลินทรีย์น้ำ โดยต้องเก็บในที่เย็นประมาณ 10oC เชื้อจุลินทรีย์จึงไม่ตาย จึงไม่สะดวกในการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นเม็ดหรือแคปซูล โปรไบโอติก ผลิตเอนไซม์ได้หลายชนิดขึ้นมาช่วยดูแลสุขภาพ ส่วนเอนไซม์จากอาหาร มักสลายตัวเมื่ออุณหภูมิ 48oC หรือ 118oF
จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียเจ้าถิ่นในลำไส้เรา แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
ก. แบคทีเรียที่มีประโยชน์ ได้แก่ แลคโตบาซิลลัส และบิฟิโดแบคทีเรีย
ข. แบคทีเรียที่อาจก่อโทษแก่ร่างกาย โดยปล่อยสารพิษออกมาเมื่อย่อยอาหาร ดังนั้นหากเจริญแพร่พันธุ์มากๆ (ในกรณีที่แบคทีเรียดีลดน้อยถอยไป) ก็ย่อยอาหารมาก เกิดสารพิษมากตามมา ได้แก่กลุ่ม อีโคไล และโคลิฟอร์ม
เมื่อพูดถึง “อาหารเพื่อสุขภาพ” (Functional food) หรือกลุ่มอาหารที่ดีมีประโยชน์ นักโภชนาการมักจะแนะนำให้ทานโปรไบโอติกเพื่อปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ให้กลับสู่ภาวะที่ควรเป็น เพื่อควบคุมปริมาณจุลินทรีย์ร้ายที่ก่อพิษ โดยอาจปล่อยสารที่จุลินทรีย์ร้ายไม่ชอบ หรือขัดขวางการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ร้าย
จุลินทรีย์ที่ตายแล้ว แต่ยังมีประโยชน์ต่อร่างกาย ด้วยผนังเซลล์เยื่อหุ้มเซลล์ อาจสามารถส่งเสริมการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ ก็จัดเป็นโปรไบโอติกด้วย โดยโปรไบโอติกอาจเป็นแบคทีเรีย เชื้อรา หรือยีสต์ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่มักเป็นแบคทีเรีย คือแลคโตบาซิลลัส กับบิฟิโดแบคทีเรีย
อาหารของแบคทีเรียดีๆ เหล่านี้ เราเรียกพรีไบโอติก (Prebiotic) มีสูตรเป็น Fructo–oligosaccharide (FOS) ได้แก่ กล้วย หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรืออะไรที่เป็นไฟเบอร์ ใยอาหาร ก็จัดเป็นพรีไบโอติก
ส่วนแบคทีเรียร้าย เช่น E.Coil ไข้รากสาด ไทฟอยด์ คลอสตริเดียม (บาดทะยัก, ไฟลามทุ่ง, โบทูลินั่ม–ก่อพิษถึงตาย) อาหารที่แบคทีเรียเลวชอบ แล้วเจริญเติบโตดี คือ เนื้อสัตว์ ของหมักดอง สารพิษต่างๆ
นอกจากโปรไบโอติก พรีไบโอติก แล้ว ยังมีอาหารกลุ่มที่สาม…ไบโอเจนิก (Biogenic) คือ กลุ่มวิตามิน แร่ธาตุ สารสกัดสมุนไพร สารต้านอนุมูลอิสระ กรดอะมิโน อาร์จินีน คาร์นิทีน น้ำมันปลา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันรำข้าว เบต้ากลูแคน คาร์โนซีน หรือไบโอเจนิกคือ สารอาหารทั้งหลายที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่ไม่ใช่จุลินทรีย์ หรือใยอาหาร จัดเป็นอาหารเสริมกลุ่มใหญ่ที่ส่งเสริมสุขภาพและความงาม
ยังมีคำว่า แมคโครไบโอติก (Macrobiotic) หมายถึง ผักผลไม้ธรรมชาติ อันเป็นอาหารชั้นดี มีฤทธิ์เป็นด่าง เป็นหยาง แต่ปัจจุบันมีปัญหาในสิ่งปลอมปน ยาฆ่าวัชพืช ฮอร์โมนเร่งโต สารถนอมอาหาร ในขณะที่ผู้บริโภคก็ต้องการความสะอาด สวยงาม…จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต !