อนุสนธิจากข่าวสำคัญทางการแพทย์ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชทานรางวัลมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 สาขาการสาธารณสุข แก่แพทย์ 3 ท่าน ที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสารเสริมอาหารธาตุสังกะสี
เมื่อปลายเดือนมกราคม 2554 ได้จุดประกาย ตอกย้ำบทบาทความสำคัญของแร่ธาตุสังกะสี อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจ และเป็นข้อมูลแก่ผู้สนใจในรายละเอียด จึงนำเรื่องราวของแร่ธาตุสังกะสีมาทบทวน และต่อยอดเพิ่มเติม
สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง และเก็บสะสมไว้เผื่อใช้ไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการปริมาณน้อย (Trace Minerals) คือร่างกายต้องการน้อยกว่าวันละ 100 มิลลิกรัม แต่มีบทบาทสำคัญหลากหลายต่อร่างกาย
ในร่างกายมีสังกะสีประมาณ 1 – 2.5 กรัม พบได้มากในกระดูก ฟัน เส้นผม ผิวหนัง ตับ กล้ามเนื้อ และอัณฑะ สังกะสีเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การสร้างโปรตีน การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การเจริญของระบบสืบพันธุ์ การมองเห็น การหายของบาดแผล และป้องกันเซลล์จากการทำลายโดยอนุมูลอิสระ
แร่ธาตุชนิดนี้มีมากในอาหารโปรตีน เช่นเนื้อสัตว์และปลา ร่างกายเราไม่สามารถผลิตหรือเก็บสะสมสังกะสีไว้ จึงต้องรับให้เพียงพออยู่เสมอ
ส่วนใหญ่ของสังกะสีที่รับประทานเข้าไป แล้วไม่ถูกดูดซึม จะถูกขับถ่ายออกทางอุจจาระและปัสสาวะซึ่งคนปกติจะขับถ่ายสังกะสีออกประมาณวันละ 300 – 600 ไมโครกรัม
ความสำคัญของสังกะสีถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2506 โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันดา เอส.ประสาด ผู้ศึกษาพบความสำคัญของธาตุสังกะสีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย โดยได้ตรวจพบผู้ป่วยขาดธาตุสังกะสีมีร่างกายแคระแกร็น มีการพัฒนาการในด้านต่างๆ รวมทั้งพัฒนาการทางเพศที่ล่าช้า พัฒนาการของกระดูกผิดปกติ โลหิตจาง ตับและม้ามโต เมื่อรักษาโดยการเสริมธาตุสังกะสีแล้ว ผู้ป่วยมีการเติบโตและพัฒนาการกลับมาดีขึ้น ทั้งในด้านความสูง น้ำหนัก พัฒนาการของกระดูกและพัฒนาการทางเพศ และยังพบว่าการขาดธาตุสังกะสีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเนื่องจากร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง
ประโยชน์ต่อสุขภาพ
1. การเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ : ธาตุสังกะสีมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อทารกในครรภ์ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ธาตุสังกะสีมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเติบโต การพัฒนาส่วนสูง น้ำหนักและกระดูกในทารก เด็กและวัยรุ่น ในสตรีมีครรภ์ควรได้รับสังกะสี เพิ่มให้เพียงพอตั้งแต่เดือนที่ 5 ของครรภ์ และช่วงให้นมบุตร เพื่อให้ทารกสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เกิดภาวะแคระแกร็น น้ำหนักน้อย กระดูกผิดปกติ ตับม้ามโต โลหิตจาง
RDA ที่กำหนดไว้คือ 25 มก.ในระยะให้นม ตลอดจนการเสริมอาหารแร่ธาตุสังกะสีในเด็ก เพื่อป้องกันและลดโรคข้างต้น
2. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย ช่วยต้านหวัด ไข้หวัดใหญ่ และเชื้อโรคอื่นๆ สังกะสีมีบทบาทมากมายในการร่วมกับ functional food อื่นๆ ร่วมกับวิตามินซี สร้างคอลลาเจน สร้างผิวที่สวยงาม
- ร่วมกับน้ำมันปลา กลูต้าไทโอน ป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม
- ร่วมกับซีลีเนียม วิตามินซี ต้านมะเร็ง
- ร่วมกับวิตามินอี ฯลฯ เสริมสร้างภูมิต้านทาน
- ร่วมกับแคลเซียม แมกนีเซียม แก้โรคกระดูกพรุน
- ร่วมกับอินซูลิน แก้เบาหวาน
สังกะสีจำเป็นต่อภูมิคุ้มกัน เพราะมีบทบาทพิเศษในทีเซลล์ (T–cell) ระดับธาตุสังกะสีที่ต่ำกว่าปกติ ทำให้ทีเซลล์มีจำนวนลดลงและอ่อนแอ ส่งผลให้ไม่สามารถแยกแยะและต่อสู้กับโรคติดเชื้อบางชนิด
การเพิ่มระดับธาตุสังกะสีในอาหารได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคปอดบวมและท้องเสีย ตลอดจนโรคติดเชื้ออื่นๆ
ข้อมูลล่าสุด จากการศึกษาโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์เคนเนท เอช.บราวน์ และศาสตราจารย์นายแพทย์โรเบิร์ท อี.แบล็ค ร่วมกับแพทย์ท่านอื่นๆ อันเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 พบว่าการให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็กสามารถช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงและโรคปอดบวม
รวมทั้งการให้ธาตุสังกะสีเสริมขณะที่มารดาตั้งครรภ์จะทำให้เด็กทารกเกิดโรคอุจจาระร่วงลดลง ธาตุสังกะสียังสามารถลดระยะเวลาและความรุนแรงของไข้หวัด ครีมที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุสังกะสี นอกจากดีกับสิว หรือบาดแผลเรื้อรังแล้ว ยังใช้กับผื่นผ้าอ้อม อุจจาระกัดก้นได้อีก !
ช่วยรักษาแผลในปากและอาการเจ็บคอหายเร็วขึ้น
พบว่าการเพิ่มสังกะสีในอาหารเพียงเล็กน้อย จะช่วยป้องกันโรคท้องร่วง ปอดบวม และมาลาเรียได้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สังกะสีจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน จึงช่วยป้องกันโรคท้องร่วงได้ถึง 38% ลดการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ ได้ 45% และลดการเป็นโรคมาเลเรียได้ถึง 35%
การให้สังกะสีเสริมในมารดาที่ตั้งครรภ์ ช่วยให้เด็กทารกเกิดอุจจาระร่วงลดลง แม้กระทั่งการให้สารนี้เสริมในเด็กขณะมีอาการท้องเดินเฉียบพลัน หรือปอดบวม ก็ช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้การเสริมธาตุสังกะสีจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและการเยียวยาตัวเองของร่างกาย เพื่อต่อสู้โรคร้าย เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ลูปัส อ่อนเพลียเรื้อรัง รวมถึงโรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม และเอดส์
3. ป้องกันมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหาร หลอดลม ต่อมลูกหมากจะมีปริมาณสังกะสีต่ำกว่าคนปกติ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีธาตุสังกะสีและซีลีเนียมต่ำกว่าปกติ
4. ป้องกันตาบอดในผู้สูงอายุ พบธาตุสังกะสีอยู่ในปริมาณมากในเรตินา การสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุที่เรียกว่า macular degeneration (AMD) นอกจากขาดโอเมก้า3 แล้ว พบว่าเกิดจากขาดธาตุสังกะสีด้วย นอกจากนี้ ธาตุสังกะสียังอาจจะมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคตาบอดกลางคืนและต้อกระจก
5. ป้องกันผมร่วง สังกะสีช่วยป้องกันและรักษาผมร่วงได้กรณีขาดแร่ธาตุนี้ เนื่องจากเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยเฉพาะมีส่วนสำคัญต่อการแบ่งเซลล์ผมใหม่ ซ่อมแซมผมที่อ่อนแอให้แข็งแรงมากขึ้น ช่วยควบคุมการทำงานของต่อมน้ำมันบนหนังศีรษะ นอกจากนี้ยังมีผลช่วยกระตุ้นการสร้างโปรตีนและคอลลาเจนอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นผม โดยปริมาณที่แนะนำคือ 11 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลา 3 – 4 สัปดาห์
6. จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการเจริญของระบบสืบพันธุ์ ในเพศชาย ธาตุสังกะสีช่วยปกป้องต่อมลูกหมากจากการติดเชื้อ และจากภาวะต่อมลูกหมากโต ธาตุสังกะสีช่วยรักษาปริมาณและความแข็งแรงของสเปิร์ม และระดับปกติของฮอร์โมนเพศชาย ในเพศหญิง ธาตุสังกะสีช่วยรักษาปัญหาระดูผิดปกติและบรรเทาอาการปวดเกร็งอย่างผิดปกติของมดลูกก่อนมีประจำเดือน
7. สำคัญต่อการรับรู้รส กลิ่นและความรู้สึกอยากอาหาร:ธาตุสังกะสีทำหน้าที่กระตุ้นสมองส่วนที่รับและประมวลผลข้อมูลจากประสาทรับรสและกลิ่น นอกจากนี้ยังใช้ธาตุสังกะสีรักษาโรคประสาทเบื่ออาหาร (anorexia) อีกด้วย
8. กระตุ้นให้ร่างกายรักษาแผลและการระคายเคืองผิวหนัง คนที่เป็นแผลต่างๆ หรือแผลในกระเพาะอาหาร การให้ธาตุสังกะสี จะทำให้แผลหายเร็วขึ้นกว่าผู้ที่ไม่ได้รับธาตุสังกะสีนี้ เพราะสังกะสีช่วยกระตุ้นการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิว มีการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของธาตุสังกะสีกับเด็กทารกเพื่อบรรเทาอาการผื่นผ้าอ้อม และใช้รักษาบาดแผลจากของมีคม
9. เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน การค้นคว้าจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจจะเกิดจากโปรตีนที่ชื่อว่าอะไมลินจับตัวกันเป็นกลุ่มก้อนและไปหยุดเซลล์ที่มีหน้าที่ในการผลิตอินซูลินทำให้อินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ปัจจัยหนึ่งที่สามารถหยุดการโจมตีของอะไมลินต่อเซลล์ผลิตอินซูลิน ก็คือ สังกะสี โดยสังกะสีจะป้องกันการจับตัวเป็นกลุ่มก้อนของอะไมลินในคนปกติ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่าสังกะสีจะมีผลต่ออะไมลินอย่างไร อีกทั้งในเซลล์ผลิตอินซูลินของผู้ป่วยเบาหวานยังขาดแคลนสังกะสีอีกด้วย หรือกรณีที่ ผู้ป่วยเบาหวานมักเป็นแผลจะติดเชื้อง่าย สังกะสีจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
10. รักษาสิว มีการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า อาการสิวกำเริบอาจบรรเทาเมื่อกินสังกะสี โดยเชื่อว่ามีส่วนบรรเทาอาการอักเสบ และยังเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของปริมาณไขมันในผิวหนัง ควบคุมปัญหาการเกิดสิวจากการอุดตันไขมัน
11. ชะลอความเสื่อมของเซลล์และบำรุงสมอง สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่มีคุณสมบัติโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งและเป็นที่สนใจโดยเฉพาะผู้ที่รักสวยรักงามก็คือ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนัง สังกะสีจะเข้าไปช่วยยืดอายุผิวที่อ่อนเยาว์ไร้ริ้วรอยให้อยู่กับคุณยาวนานขึ้น นอกจากนี้สังกะสียังช่วยในเรื่องของความจำ ระบบประสาทและระบบทางเดินอาหารให้ทำงานเป็นปกติได้อีกด้วย
ปริมาณเท่าไรเหมาะสม
- ในคนไทยทั่วไป RDA คือ 10 – 15 มก./วัน การได้รับเกินวันละ 100 มก.ติดต่อกันนานจะทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และลดเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL) ซึ่งเป็นไขมันดีลง
- ปริมาณที่อาจเป็นพิษ คือ 2 กรัม/วัน ซึ่งอาจเกิดคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน ปวดท้อง ท้องเสียได้
- การกินสังกะสีติดต่อกันเกิน 1 เดือน อาจรบกวนการดูดซึมธาตุทองแดง ดังนั้นในผลิตภัณฑ์ 30 มก. จึงควรมีทองแดง 2 มก.
อาหารที่ให้สังกะสี
สังกะสีมีมากในอาหารโปรตีนสูง เช่นเนื้อวัว เนื้อหมู ตับ สัตว์ปีก (โดยเฉพาะเนื้อสีเข้มเช่นเนื้อเป็ด) และอาหารทะเล (โดยเฉพาะหอยนางรม) เนยแข็ง ถั่ว และถั่วเปลือกแข็ง จมูกข้าวสาลี เมล็ดฟักทอง ไข่และนมสด แต่สังกะสีจากพืชจะดูดซึมได้ยากกว่าสังกะสีในเนื้อสัตว์
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสังกะสีมีหลายรูปแบบ แต่ควรเลือกชนิด ซิงค์พิโคลิเนต (Zinc picolinate) อะซิเตท (acetate) ซิเตรท (citrate) กรดอะมิโนคีเลต (aminoacid chelate) หรือแอสปาร์เทต (aspartate) ซึ่งดูดซึมง่าย ไม่ระคายกระเพาะ