ตะกร้าสินค้า

ไม่พบสินค้าในรถเข็น

อาหารต้านโรค

กลูต้าไทโอน

ให้เรตสมาชิก: 0 / 5

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

กลูต้าไทโอน คืออะไร เป็นกรดอะมิโนโปรตีน ประเภท tripeptide (3 สายโมเลกุล) คือประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ตัว ได้แก่ cysteine, glycine และ glutamic acid cysteine นั้นมีกำมะถัน (sulfur) เป็นองค์ประกอบ

ในบรรยากาศสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยไฮโดรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย และมีเทน เซลล์ที่จะอยู่รอดจากสภาวะกรดทั้งหลาย จะต้องมีแอนตี้ออกซิแดนท์อยู่ภายในเพื่อป้องกันตนเอง มิให้ถูกทำลาย หนึ่งในจำนวนสารเหล่านี้คือ กลูต้าไทโอน

กลูต้าไทโอนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายสร้างได้เองจากกรดอะมิโนข้างต้น มักพบภายในเซลล์รอบๆนิวเคลียส ปกติร่างกายจะไม่ขาดกลูต้าไทโอน เว้นแต่เกิดโรคที่ต้านการสร้าง หรือต้องใช้กลูต้าไทโอนเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคตับ เบาหวาน ความดันสูง ต้อหิน มะเร็ง เอดส์ การสูบบุหรี่ พบว่ามีกลูต้าไทโอนต่ำในเลือดเนื่องจากต้องใช้มากขึ้น

ชื่อย่อของกลูต้าไทโอนคือ GSH (Glutathione sulfhydryl), SH หมายถึงกลุ่มไธออล ที่มีกำมะถันอันทำให้เป็นสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่ทรงอานุภาพ ทำงานได้ในเอนไซม์หลายระบบ หลังจากทำงานแล้วกลูต้าไทโอนจะถูกออกซิไดส์กลายเป็น GSSH หมายถึงว่ามีอะตอมของกำมะถัน (S) เกาะติดเพิ่มเข้ามา

 

GSSH จะกลับคืนสภาพเป็น GSH โดยการรีดิวส์ หรือ ได้รับอิเล็กตรอน หรือถูกเติมอิเล็กตรอนด้วยเอนไซม์ glutathione reductase เมื่อ GSH ถูกออกซิไดส์ หรือ ถูกแย่งอิเล็กตรอน หรือเป็น antioxidant ที่ให้อิเล็กตรอนไป ก็เข้าสู่สภาพเป็น GSSH

อยู่ที่ไหน พบกลูต้าไทโอนได้ในทุกเซลล์ โดยเซลล์ของสัตว์จะมีสูง โดยเฉพาะที่ตับ ม้าม ไต และตับอ่อน รวมถึงเลนส์ตา และกระจกตา ส่วนในเลือดมีน้อย ส่วนในพืชนั้นพบมากในหน่อไม้ฝรั่ง อโวคาโด วอลนัท

ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆ บนโลกนี้ ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ที่จะไม่มีกลูต้าไทโอนอยู่ภายในเซลล์ของตนเอง

จากการศึกษาพบว่ากลูต้าไทโอนมีระดับลดลงในผู้สูงอายุ โดย 50% ของผู้มีอายุ 65 ปี จะขาดกลูต้าไทโอน นำไปสู่โรคต่างๆ เช่น มะเร็ง ข้อเสื่อม ต้อกระจก และความชรา

ยังพบว่ากลูต้าไทโอนมีมากในเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารช่วงบ่ายๆ และลดลงมากในเวลากลางคืน จึงสันนิษฐานว่า GSH ปกป้องเยื่อบุกระเพาะจากการออกซิไดส์ อย่างรุนแรงของน้ำย่อย กรดไฮโดรคลอริค

ทำอะไร GSH มีหน้าที่สำคัญในการปกป้องร่างกาย คือ

1. antitoxin ต่อต้านพิษของสิ่งต่างๆ กลูต้าไทโอน ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ทำลายพิษโดยตรง

สารพิษที่กลูต้าไทโอนช่วย Detox ออกได้แก่ พวกโลหะหนัก สารระเหย ยาฆ่าแมลง หรือยาบางชนิดให้ละลายได้ดีขึ้น ทำให้ง่ายต่อการขับออกจากร่างกาย

กลูต้าไทโอนยังช่วยป้องกันตับจากการถูกทำลายด้วยแอลกอฮอล์ ช่วยกำจัดนิโคติน สารพิษจากบุหรี่ ยาพาราเซตามอล และช่วยเสริมฤทธิ์การทำงานของตับในการขจัดสารพิษ ปกป้องอวัยวะจากอนุมูลอิสระ เช่น ดวงตา ต้านการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซ่อมแซม DNA ต้านการชรา ผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันอุดตันผนังหลอดเลือด ปอดอุดกั้น หูหนวกจากการกระทบเสียงดังเกินปกติ

อาจช่วยปกป้องมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ ตลอดจนใช้รักษามะเร็ง โดยเฉพาะการที่ตับเสียการทำงานไป พบว่า GSH สามารถทำลายสารก่อมะเร็ง (carcinogen) ไม่น้อยกว่า 12 ชนิด เช่น aflatoxin โดยไปจับพิษ แล้วขจัดออกทางน้ำดี หรือปัสสาวะ

2. ช่วยในระบบภูมิคุ้มกัน กลูต้าไทโอน ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์หลายชนิด ให้ต่อต้านสิ่งแปลกปลอม รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส

GSH ช่วยในการขนส่งกรดอะมิโน เช่น L–alanine ผ่านเนื้อเยื่อโดยทางอ้อม

L–alanine จำเป็นสำหรับการผลิตเม็ดเลือดขาว ที่ชื่อว่า ลิมโฟซัยท์

พบ GSH ปริมาณสูงในต่อมไทมัส (โดยเฉพาะวัว) ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน

เมื่อร่างกายขาด GSH จะมีผลทำให้แมคโครเฟ็จซึ่งทำหน้าที่อยู่ตามเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหลวมๆและอวัยวะต่างๆ เช่น ม้าม ปอด และตับ แมคโครเฟ็จมีความสามารถในการ “กลืนกิน” สิ่งแปลกปลอม เมื่อระดับ GSH ต่ำ การผลิตแมคโครเฟ็จโดยพรอสตาแกลนดิน ลิวโคไทรอีน ซี ก็ถูกยับยั้ง ลิวโคไทรอีน ซี จัดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเข้าถึงสิ่งแปลกปลอมที่รุกราน พบว่าเมื่อใช้ยายับยั้งเมตาบอลิสมของ GSH ทำให้ GSH และกรดอะราคิโดนิค (arachidonic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวจำเป็นต่อการสร้างพรอสตาแกลนดิน อี2 (PGE2) ซึ่งมีบทบาทในการควบคุมการอักเสบ และระบบภูมิคุ้มกัน กลูต้าไทโอนจึงช่วยสร้างและซ่อมแซม DNA สร้างโปรตีน และ prostaglandin

3. เม็ดเลือดแดง GSH จำเป็นต่อความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง และมีส่วนในการสร้างเม็ดเลือดแดง การขาดเอนไซม์กลูต้าไทโอนรีดักเตส และกลูต้าไทโอน เปอร์ออกซิเดส ทำให้มีการทำลายของเม็ดเลือดแดง

4. ปกป้องดวงตาจากต้อกระจก กลูต้าไทโอนพบมากในแก้วตาและเลนส์ตา ร่วมกับสารไรโบฟลาวิน สารอาหารที่สนับสนุนการสร้างกลูต้าไทโอน ได้แก่ ซีสเตอีน กลัยซีน กรดกลูตามิค เมทไธโอนีน ซัลเฟอร์ อาหารที่มีเมทไธโอนีน และซิสทีน ได้แก่ ไข่แดง และพริกสุก(red peppers) แหล่งซัลเฟอร์ ได้แก่ โปรตีน กระเทียม หอมหัวใหญ่ หน่อไม้ฝรั่ง บรอกโคลี กะหล่ำปลี

5. ยับยั้งการสร้างสีผิวหนัง ที่นำมาใช้ในเรื่องความสวยความงาม คือ เกี่ยวกับผิวขาวจากฤทธิ์กระตุ้นให้สร้าง phaeomelanin

 

กลไกที่ทำให้ผิวขาวใส

การที่ผิวจะขาวใสนั้น เกิดจากกระบวนการสร้างเมลานินลดลง โดยกลูต้าไทโอนไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase) กระตุ้นให้สร้าง phaeomelanin (สีอ่อน ขาวปนชมพู) มากกว่า Eumelanin (เมลานินสีคล้ำ)

ผลของกลูต้าไทโอนในการปรับสีผิว ขึ้นอยู่กับสีผิวเดิมของผู้ที่เริ่มกิน หากมีสีผิวอ่อนอยู่แล้วก็เห็นผลไว แต่หากสีผิวเดิมคล้ำก็ต้องรอให้ร่างกายสร้างเม็ดสีอ่อน ชุดใหม่ บวกกับเซลล์ผิวเก่าสีคล้ำเดิมผลัดผิวหมดไปก่อน ซึ่งหากคล้ำมากก็อาจใช้เวลาผลัดสีผิวเดิมเป็นปี จากนั้นจึงจะเห็นผิวในชุดเม็ดสีอ่อนชุดใหม่ที่สร้างขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม เรื่องกลูต้าไทโอนอาจมีข้อมูลที่ไม่ตรงกันนัก กล่าวคือ อาจไม่ได้ผลตามคาดหวังในทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่มียีนสร้างสีที่แข็งแกร่ง จะใช้อะไรยับยั้งการสร้างสีชั่วคราวก็ไม่เกิดผล(ไม่ระคายผิว) ส่วนผู้ที่ระบบเอนไซม์อ่อนไหวง่าย พอยับยั้งได้ก็มีอยู่

สรุป 

กลูต้าไทโอน อาจสามารถช่วยให้ผิวค่อยๆ ขาวขึ้น ในช่วงเวลาที่กิน หรือฉีดอยู่ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นกับ การป้องกันแสงแดด และสารอาหารจำเป็นต่อการสร้างเซลล์ผิว เช่น น้ำมันปลา วิตามินซี แร่ธาตุสังกะสี ซีลีเนียม วิตามินบี และหากเอาข้อมูลว่าสารที่เสริมฤทธิ์ของกลูต้าไทโอนคือ โอพีซี และ ALA …การได้ทีมสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย ย่อมให้ประสิทธิผลสูงกว่าการได้รับกลูต้าไทโอนโดดๆ

ในกรณีฉีดหรือกินเท่าไรก็ไร้ผล ก็สมควรปล่อยตามชะตาฟ้าดิน แม้จะมีมาตรการเด็ดขาด คือยาฆ่าเซลล์สร้างสีที่แพทย์อาจนำมาใช้ ซึ่งก่อให้เกิดผิวเผือกไปตลอดชีพ ทำให้ต้องคอยหลบแสงUV ที่ก่อมะเร็งผิว ก็เป็นอันตรายและภาระหนักระยะยาว ซึ่งกรณีของนักร้องไมเคิล แจ็คสัน คงเป็นอุทาหรณ์ที่ดี (คือว่า…ไม่ดี !)

อีกตัวช่วยที่เป็นหัวหอกของการสร้างซ่อมเซลล์ผิวหนังที่สำคัญยิ่งคือ เซลล์ซ่อมเซลล์ แล้วจึงตามด้วย สารอาหารพื้นฐานของผิวที่กล่าวข้างต้น…ตลอดจนครีมกันแดด !

ขนาดวิธีใช้

ขนาดรับประทานคือ 500 – 1000 มก./วัน ผลข้างเคียงทั่วไป เช่น ผิวหนังแดง ความดันโลหิตต่ำ

ข้อพึงระวัง

สำหรับการฉีดนั้นต้องเลือกวัตถุดิบที่สะอาดปราศจากสารปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตและภาชนะบรรจุ ตลอดจนอาการแพ้ที่เป็นอันตรายมากได้ แม้จะกระทำโดยแพทย์ก็ตาม

  • ข้อห้ามและอันตราย ได้แก่ผู้ที่แพ้ยาฉีด หรือส่วนผสม ผู้มีอาการหอบหืด ปลูกถ่ายอวัยวะ หรืออาจเกิดอาการช็อคกระทันหันในผู้ใช้ยาฉีดได้
  • ข้อมูลเก่า : เคยเชื่อว่ากลูต้าไทโอนไม่ดูดซึม ต้องใช้สารวัตถุดิบคือ N–acetyl cysteine ร่วมกับ บี6 ไนอาซิน และซีลีเนียมในการสร้าง
  • ข้อมูลใหม่ : มีพัฒนาการผลิตกลูต้าไทโอนที่ดูดซึมได้ดี จนพิสูจน์ทราบได้ จากการตรวจเลือดภายหลังการรับประทานกลูต้าไทโอนเปรียบเทียบกับการให้ซีสเทอีน ซีลีเนียม วิตามินบี โดยพบว่ากลุ่มที่กินกลูต้าไทโอน มีระดับสารกลูต้าไทโอนในกระแสเลือดสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

EasyCookieInfo