ตะกร้าสินค้า

ไม่พบสินค้าในรถเข็น

ปัญหาสุขภาพทั่วไป

โรคกระดูกพรุน

ให้เรตสมาชิก: 0 / 5

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

คือ ภาวะที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง เป็นผลให้โครงสร้างของกระดูกไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนัก หรือแรงกดดันได้ตามปกติ มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้ง่ายขึ้น อาจเรียกว่า โรคกระดูกบาง หรือโรคกระดูกผุก็ได้  

กระดูกสร้างได้…ก็สลายได้

        กระดูกของเราไม่ได้อยู่ในลักษณะนิ่งๆ เหมือนกำแพงที่ก่อแล้ว แต่จะมีการเคลื่อนไหวถ่ายเทกันตลอดเวลา พูดง่ายๆ คือ มีกระบวนการสร้าง และสลายกระดูกเกิดขึ้นตลอดเวลา ในวัยเด็กจะมีการสร้างมากกว่าการทำลาย พอเข้าสู่วัยกลางคนคือ ช่วงอายุ 30 ปี การสร้างและการทำลายจะพอดีกัน และจะคงที่อยู่ในระยะหนึ่ง พออายุเกิน 40 ปี การสร้างจะไม่สามารถไล่ทันกระบวนการสลายได้ จึงเริ่มมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปเรื่อยๆ ปีละ 0.5 – 1% ทั้งหญิงและชาย

        แต่ในผู้หญิงเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน การขาดฮอร์โมนเพศ มีผลให้กระดูกสลายตัวเร็วขึ้น ปริมาณเนื้อกระดูกจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลอดชีวิต ผู้หญิงจะสูญเสียเนื้อกระดูกมากกว่าผู้ชายถึง 2 – 3 เท่า ซึ่งปกติหญิงก็มีมวลกระดูกน้อยกว่าชาย 10 – 20% อยู่แล้ว ทำให้พบโรคนี้ชุกชุมถึง 1 ใน 3 คน ในเพศหญิง แต่ก็ใช่ว่าผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเกิดภาวะกระดูกพรุนกันหมด ขึ้นอยู่กับการสะสมเนื้อกระดูกไว้ตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น หากมีการสะสมไว้ดี ในวัยหมดประจำเดือน ถึงจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกเพิ่มขึ้น ก็ยังมีความหนาแน่นของกระดูกในเกณฑ์ปกติได้

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนมีอะไรบ้าง

  1. หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เนื้อกระดูกจะลดลงอย่างมากในช่วง 5 ปี หลังวัยหมดประจำเดือน
  2. ผู้สูงอายุ เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น และการขาดแร่ธาตุเป็นเวลานาน
  3. ชาวเอเชีย และคนผิวขาวมีโอกาสเกิดมากกว่าคนผิวดำ กรรมพันธุ์ก็มีส่วน
  4. กินอาหารไม่ถูกต้อง เช่น กินโปรตีน และเกลือมาก
  5. สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ดื่มกาแฟมาก (เกิน 4 แก้ว/วัน) น้ำอัดลม ซึ่งมักมีกรดฟอสฟอริก pH 2.4 ล้วนทำให้ต้องดึงแร่ธาตุออกมาสะเทินฤทธิ์กรด
  6. คนผอมมีความเสี่ยงมากกว่าคนอ้วน เพราะเชื่อว่าไขมันสามารถเปลี่ยนเป็นเอสโตรเจนได้
  7. ขาดการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนัก, ขาดวิตามินดี, ซี
  8. เป็นโรคบางอย่าง เช่น ไขข้ออักเสบ โรคไต เบาหวาน โรคพิษสุราเรื้อรัง
  9. ได้ยาที่มีการสลายเซลล์กระดูก เช่น สเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ
  10. ยาเคลือบกระเพาะ ซึ่งมักเป็นเกลืออลูมิเนียม เป็นสิ่งเร่งให้ร่างกายขับแคลเซียม แมกนีเซียม อีกทั้งลดการดูดซึม แร่ธาตุทั้งสองจากระบบทางเดินอาหาร

 

อาการเป็นอย่างไร

        ระยะแรกมักไม่มีอาการ ถ้าเริ่มมีอาการแสดงว่าเป็นมากแล้ว เช่น ปวดตามกระดูกส่วนกลางที่รับน้ำหนัก คือกระดูกสันหลัง และสะโพก อาจมีปวดข้อร่วมด้วย ต่อมาหลังจะเริ่มโก่งค่อม ถ้าเป็นมากๆ จะทำให้ปวดหลังมาก เสียบุคลิก เคลื่อนไหวลำบาก ระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารถูกรบกวน เมื่อติดเชื้อทางเดินหายใจจะหายยาก ระบบย่อยอาหารผิดปกติ ท้องอืดเฟ้อ และท้องผูกเป็นประจำ โรคแทรกซ้อนที่อันตรายที่สุด คือ กระดูกหัก ซึ่งพบมากที่กระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ หากกระดูกสันหลังหักจะทำให้เกิดอาการปวดมากจนไม่สามารถเคลื่อนไหวไปไหนได้

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน

  1. ตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density–BMD) ด้วยเครื่อง Bone Densitometer ซึ่งจะวัดความหนาแน่นของกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา ปลายกระดูกข้อมือ แล้วนำค่าไปเปรียบเทียบกับค่าปกติในเพศและอายุช่วงเดียวกัน
  2. เอกซเรย์กระดูก แต่จะเห็นความผิดปกติได้ต้องมีการลดลงของปริมาณกระดูก มากกว่าร้อยละ 30
  3. วิธีอื่นๆ เช่นตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ

ปัจจุบัน การวัดความหนาแน่นของกระดูกเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด การตรวจ 2 ครั้ง ห่างกัน 1 – 2 ปี จะช่วยให้สามารถคาดการณ์หรือพยากรณ์โรคได้ เพื่อวางแผนในการป้องกัน และรักษาโรคต่อไป

พรุนก็เติมแคลเซียมซิ !

        การคิดง่ายๆ ว่ากระดูกพรุนก็กินแคลเซียมเข้าไว้ นั้นเป็นอันตราย เพราะแคลเซียมที่ล้นเกิน โดยขาดปัจจัยสร้างกระดูกร่วม จะก่อภาวะแคลเซียมเกาะ (Calcification) ตามอวัยวะทั้งหลาย ไม่ว่า ไต หัวใจ หลอดเลือด แม้แต่ที่กระดูกเอง ผลของแคลเซียมเกาะก็คือ ความเปราะ ประดุจหินปูนย้อยในถ้ำนั่นเอง เพราะสิ่งประกอบที่แข็งแรงของกระดูกต้องมีแคลเซียม แมกนีเซียมและฟอสฟอรัส ในอัตราที่พอเหมาะ

        เท่าไรจึงพอเหมาะ โดยเฉพาะสัดส่วนแคลเซียม กับแมกนีเซียม คือ 1:1 ถึง 2:1 เท่านั้นไม่ใช่ 15:1 เฉกเช่นในน้ำนมวัว ในกรณีที่ดื่มนม จึงสมควรดื่มหรือจิบน้ำละลายแมกนีเซียมตลอดวัน แม้นมจะมีแคลเซียมสูง แต่นม (และเนื้อสัตว์) กลับมีฟอสฟอรัสล้นเกินกว่า แคลเซียมอยู่ 8 – 20 เท่า ในขณะที่สัดส่วนของแคลเซียมต่อฟอสฟอรัส ที่ร่างกายต้องการใช้สร้างกระดูกคือ 2:1 เท่านั้น

        ตัวที่จะมาลดพิษล้นเกินของฟอสฟอรัสก็หนีไม่พ้นต้องอาศัยแมกนีเซียม นอกจากฟอสฟอรัสแล้ว โปรตีนซึ่งหน่วยย่อยของมันคือ อะมิโน แอซิด กับไขมัน (fatty acid) ก็ล้วนย่อยสลายให้ฤทธิ์เป็นกรด ทำให้ต้องสะเทินฤทธิ์กรดในกระแสเลือดสู่ความเป็นกลาง ซึ่งแร่ธาตุที่ถูกดึงมาใช้ก็คือ แคลเซียมหรือ แมกนีเซียม จากกระดูกหรือฟัน

ฉีดแคลเซียมเข้าเส้นดีไหม ?

        ผลออกมาตรงข้ามกับสิ่งที่คาดคิดว่า เมื่อมีแคลเซียมมากจะไปสร้างมวลกระดูกโดยตรง พบว่าระดับแคลเซียมที่ขึ้นสูงในเลือดมีผลไปกดการหลั่ง พาราไทรอยด์ ฮอร์โมน มีผลให้แคลเซียมถูกขับออกทางไตมากขึ้น ส่วนแคลเซียมจากอาหารถูกดูดซึมได้น้อยลง ผลคือเกิดกระดูกพรุน ดังนั้นการมีแมกนีเซียมเพียงพอ จะทำให้ไม่ต้องสลายแคลเซียมออกมาคงในกระแสเลือดมาก เมื่อพาราไทรอยด์ทำงานปกติ ก็เกิดการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร และดูดกลับจากไต นำไปสร้างกระดูกได้ดี (ในภาวะที่มีปัจจัยร่วม คือ เอสโตรเจน แมกนีเซียม วิตามินดี และการออกกำลัง ชนิดลงน้ำหนัก)

        จะเห็นได้ว่า การได้รับแมกนีเซียมเพียงพอ (6 mg/kg/d) เป็นหนทางป้องกันภาวะแคลเซียมเกาะหรือฟอสฟอรัสล้นเกิน ตลอดจนพิษความเป็นกรดจากโปรตีน ไขมัน น้ำอัดลม กาแฟ เกลือ ยาเคลือบกระเพาะ อันเป็นสาเหตุใหญ่ของกระดูกพรุนได้เป็นอย่างดี

 

น่ากลัวอย่างนี้…ป้องกันไว้ดีกว่า ไม่อยากลำบากตอนแก่ ก็ต้องดูแลกระดูกตั้งแต่หนุ่มสาว

หลักการคือ เพิ่มการสร้างกระดูก และลดการสลายกระดูก โดยเริ่มทำตั้งแต่วัยเด็ก ถ้าเลยวัยเด็กแล้ว แต่ยังไม่สู่วัยดึก จะเริ่มทำเมื่อนึกได้ก็ยังไม่สาย

วิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกัน ทำได้ง่ายๆ ดังนี้

  • กินอาหารที่มีแคลเซียมสูง  เช่น นม โยเกิร์ต กุ้งแห้ง กะปิ ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ ถั่วเหลือง ผักใบเขียว
  • ไม่กินเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะจะทำให้เลือดมีภาวะกรด ทำให้ดึงแคลเซียมออกจากกระดูก
  • หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา กาแฟ ยาสเตียรอยด์ที่ทำให้สูญเสียเนื้อกระดูก
  • อย่าให้ขาดซึ่งแมกนีเซียม + ฮอร์โมนพืช
  • ออกกำลังกาย ที่มีการแบกรับน้ำหนัก เช่น การวิ่ง เดิน ยกน้ำหนัก จะช่วยเพิ่มเนื้อกระดูก ในบริเวณที่รับน้ำหนักได้

 

กว่าจะรู้ตัวก็สาย…แล้วจะทำอย่างไร

เมื่อเป็นโรคกระดูกพรุนและมีอาการแล้ว ก็ต้องรักษาเพื่อลดความรุนแรง และป้องกันโรคแทรกซ้อน ยาที่ใช้รักษาในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสลายมวลกระดูก เช่น
    • ฮอร์โมนเอสโตรเจน / ฮอร์โมนแคลซิโตนิน / บิสฟอสฟอเนต
    • แคลเซียม / แมกนีเซียม / โบรอน
  2. ยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูก เช่น
    • วิตามินดี / ฟลูออไรด์ / แมกนีเซียม
    • พาราไทรอยด์ ฮอร์โมน / โกร์ทฮอร์โมน

        ฮอร์โมนเอสโตรเจน เป็นตัวที่นิยมใช้มานานในสตรีวัยหมดประจำเดือน เพื่อป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน โดยต้องให้ภายใน 3 – 5 ปี หลังเริ่มหมดประจำเดือน เป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 5 ปี จึงจะได้ผลดีที่สุดในการป้องกันโรค แต่ห้ามใช้นานเกิน 5 ปี เพราะมักเกิดโรคหัวใจหลอดเลือด การอุดตันหลอดเลือด มะเร็งเต้านม ตามมา ห้ามใช้ในผู้ที่เป็นโรคตับ มะเร็งมดลูก มะเร็งเต้านม เพราะจะไปกระตุ้นการโตของเนื้องอกได้ ยังมีรายงานว่าการให้เอสโตรเจนจากภายนอกเป็นตัวก่อมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันจึงแนะนำให้เลี่ยงการใช้เอสโตรเจนสังเคราะห์ทั้งหลาย 

แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อ เอสโตรเจนเป็นสารปกป้องกระดูกพรุนที่จำเป็น ? คำตอบน่าจะเป็น  

เอสโตรเจนจากพืช (phytoestrogen) ซึ่งก็คือ ไอโซฟลาโวน ที่ผิวของเมล็ดถั่วเหลืองนั่นเอง …ยังพบว่าชนชาติที่บริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำ มีอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านม และลำไส้ น้อยกว่าผู้มิได้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ อีกหนทางหนึ่งในการได้มาซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนธรรมชาติคือ บำรุงเซลล์สมอง ต่อมใต้สมอง และรังไข่ ให้ฟื้นคืนมาสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้เพิ่มขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นหนทางที่ไม่ต้องเสี่ยงพิษร้าย ของการใช้เอสโตรเจนสังเคราะห์เสริม และแก้ปัญหาได้ตรงประเด็นที่สุด

แคลซิโทนิน (Calcitonin–CT) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมไทรอยด์ ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูกและลดอาการปวด โดยเฉพาะกระดูกหักที่กระดูกสันหลัง ต่อมไทรอยด์นั้นถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนโดยต่อมใต้สมอง (TSH–Thyroid Stimulating Hormone) แคลซิโทนิน ยังสร้างได้จากเซลล์ประสาทในสมองให้มีผลลดการสลายกระดูก ในกรณีผู้ป่วยกระดูกพรุนมีอาการปวดมาก จึงสมควรได้เซลล์สมอง และต่อมใต้สมอง เพื่อผลการซ่อมเซลล์พื้นฐาน ให้หลั่งสารโยงใยไปถึงอวัยวะปลายทางคือกระดูก

โบรอน เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อความแข็งแรงของแคลเซียม มีผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน บทบาทเสมือนสารลดกระดูกพรุน หากมีโบรอนไม่เพียงพอ ร่างกายจะเก็บแคลเซียมไว้ไม่ได้ โบรอนยังออกฤทธิ์กระตุ้นสเตียรอยด์ฮอร์โมนในเลือด โบรอนพบมากในผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล องุ่น ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และน้ำผึ้ง

แมกนีเซียม มีความสำคัญยิ่งยวดต่อการยับยั้งการสลาย   ตลอดจนกระบวนการสร้างกระดูก (รายละเอียดกรุณาอ่านจากเรื่อง  “มหัศจรรย์แมกนีเซียม”)

ฮอร์โมนจากต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone–PTH) ในคนหรือสัตว์หรือที่ถูกตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกหมด  จนเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ฟอสเฟตสูง และเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมง หากไม่ได้ PTH ทดแทน PTH เป็นตัวกระตุ้นให้แคลเซียมเข้าเซลล์กระดูก (สร้างกระดูก) โดยจะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่อมีแมกนีเซียม และวิตามินดี ร่วมอยู่ด้วย และออกฤทธิ์โดยอ้อมต่อผนังทางเดินอาหารผ่านวิตามินดีในการดูดซึมแคลเซียม ส่วนที่ไต PTH มีฤทธิ์เพิ่มการดูดกลับ(เข้ากระแสเลือด) ของแคลเซียม ยับยั้งการดูดกลับของฟอสเฟต ทั้งหมดนี้มีผลเพิ่มระดับแคลเซียมลดฟอสเฟต ในเลือด (ให้ไปสร้างกระดูก) ในขณะที่ระดับแคลเซียมที่ลดต่ำลงในเลือด (ช่วงแรก) ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการหลั่ง PTH แต่หากเริ่มต้นด้วยการมี PTH มากไป ก็กลายเป็นไปสลายกระดูก การควบคุมระดับความพอดีของ PTH และแคลซิโทนิน จากต่อมไทรอยด์ จึงน่าจะเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของต่อมใต้สมอง

Growth Hormone สำคัญอย่างไร ? GH จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการเจริญปกติของกระดูก ไปกระตุ้นการแบ่งตัว และการเจริญของเซลล์ คอนโดรไซท์ (Chondrocyte) และเซลล์กระดูกอื่นๆ เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ และเพิ่มการดูดกลับฟอสเฟตที่ไต เพื่อใช้สร้างกระดูกใหม่ด้วย การมี GH ที่ดี ล้วนต้องหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง ที่แข็งแรง การซ่อมเซลล์ต่อมใต้สมองจึงเป็นปัจจัยที่จำเป็น

 

สารชีวโมเลกุล…ช่วยกระดูกพรุนได้หรือ

        สารชีวโมเลกุลก็เป็นทางเลือกที่สำคัญ ที่ช่วยเสริมในการป้องกัน และรักษาโรคกระดูกพรุน โดยหลักของเซลล์ซ่อมเซลล์ และฟื้นฟูเซลล์ ตัวที่นำมาใช้คือ เปปไทด์ (Peptides) ที่สกัดจากเซลล์ของส่วนต่างๆ คือ เซลล์ของกล้ามเนื้อและรังไข่ จะไปซ่อมฟื้นฟูรังไข่ ให้มีการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน เซลล์ของอวัยวะรวม จะไปซ่อมบำรุงเซลล์ของร่างกายทุกส่วน เพื่อฟื้นฟูสุขภาพโดยรวมให้สมบูรณ์

 

แล้วจะวัดผลว่าดีขึ้นได้อย่างไร ?

        จากหลักของเซลล์ซ่อมเซลล์ เมื่อมีการซ่อมอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่น สมอง กล้ามเนื้อ และอวัยวะรวม จึงน่าจะมีสิ่งเปลี่ยนแปลงที่สังเกตได้ในเบื้องต้น ในกรณีสูตรกระดูกพรุน อาจตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) ก่อนใช้ และหลังใช้ 10 – 30 วัน หากพบการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ก็น่าจะบ่งชี้ว่าเดินถูกทาง และมาในหนทางที่ปลอดภัยแล้ว คงเหลือภาระในการสานต่อซึ่งต้องอาศัยปัจจัยคือเงินนั่นเอง…อย่าลืมว่า การสร้างมวลกระดูกมิใช่กระทำในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งต้องมีอาหารพร้อมให้เซลล์เจริญเติบโต โดยเฉพาะ แร่ธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ฮอร์โมนพืช วิตามินD3 (ในกรณีไม่สัมผัสแสงแดดตลอดเวลา) โบรอน และออกกำลังกาย

        โรคกระดูกพรุนจัดเป็นภัยเงียบสำหรับผู้สูงวัยทั้งหลาย โดยเฉพาะในหญิงวัยหมดประจำเดือน นอกจากเลือดจะไป ลมจะมา ยังพัดพาเอาเนื้อกระดูกไปด้วย การรักษามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ต้องรักษากันนานหลายปี หรืออาจต้องรักษากันตลอดชีวิต จึงควรป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ

คติเตือนใจสตรี แม้นหวังร่ำรวย หมั่นสะสมเงินตรา……แต่ถ้ารักษ์กายาต้องสะสมกระดูก

 

สรุปหนทางแก้กระดูกพรุนโดยไม่ใช้ยา

  1. ดื่มนมถั่วเหลือง เช้าและก่อนนอน ได้ทั้งแคลเซียม และฮอร์โมนพืช
  2. ใช้แมกนีเซียมละลายน้ำ จิบดื่มแทนน้ำดื่มตลอดวัน โดยเฉพาะผู้ดื่มนมวัว หรือนมแคลเซียมสูง
  3. ทานผักผลไม้ ข้าวกล้อง หรืออาหารที่ให้โบรอน สังกะสีแมงกานีส ทองแดง
  4. เซลล์อวัยวะรวม 1x1
  5. เซลล์กล้ามเนื้อส่วนรังไข่ 1x2
  6. ออกกำลังกายชนิดรับน้ำหนัก
  7. ให้ร่างกายได้รับแสงแดดวันละ 10–15 นาที หรือทานวิตามินดี เสริม ในผู้ที่ต้องเลี่ยงแดด
  8. กรณีที่ปวดกระดูกมาก  หรือต้องการผลเพิ่มเติมจากฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างได้เอง (เข้าใจในข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว) อาจเพิ่มเซลล์สมอง และต่อมใต้สมอง อย่างละ 1x2