โรคจอประสาทตาเสื่อม (AMD)
เดิมความเข้าใจว่าโรคจอประสาทตาเสื่อม (Age related Macular Degeneration–ARMD) เป็นการเสื่อมตามอายุขัย พบในคนสูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไป
อาการของโรคนี้คือ มองกลางภาพไม่ชัด ส่วนรอบๆ ของภาพยังเห็นได้ มักเริ่มต้นข้างเดียวก่อน แล้วจึงตามด้วยดวงตาข้างที่เหลือ
พยาธิสภาพคือ การเสื่อมของจอประสาทตา ลามไปถึงเรตินา (เซลล์รับแสง) รุนแรงถึงขั้นบอดสนิท หลังจากมีการใช้คอมพิวเตอร์แพร่หลาย ทำให้พบโรคนี้เพิ่มขึ้นในวัยที่น้อยลง เช่น 40 ปีเป็นต้น
สาเหตุหนึ่งที่พบคือ รังสีอัลตราไวโอเลต A และ B รวมถึงแสงสีฟ้า ทำลายจอประสาทตา (และแก้วตาเกิดเป็นต้อกระจกอีกกรณีหนึ่ง) สันนิษฐานว่าโรคจอประสาทตาเสื่อมที่พบในคนรุ่นใหม่อายุน้อยลง โดยเฉพาะผู้ใช้คอมพิวเตอร์นั้นน่าจะมีสาเหตุเสริมจากแสง UV และแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งแม้จอ LCD รุ่นใหม่ จะช่วยสกัดกั้น UV แต่แสงสีฟ้ามิอาจกั้นได้ การมองท้องฟ้า แสงอาทิตย์จ้า โดยเฉพาะตรงแสงเวลาเกิดสุริยคราส โดยไม่มีวัสดุป้องกันดวงตา แล้วตาบอดก็เกิดจากสาเหตุนี้
ที่จอประสาทตา (Macula) มีสารสำคัญอยู่หนาแน่นคือ Lutein กับ Zeaxanthin ซึ่งเป็นสารคาโรทีนอยด์ ส่วนรอบๆ ภายในดวงตามีทั้งวิตามินซี, อี, กลูต้าไทโอน, ซีลีเนียม, สังกะสี, บี ต่างๆ ซีแซนทีนมักมาคู่กับลูทีน ทั้งในพืชและดวงตา เพราะมีโมเลกุลโครงสร้างเกือบเหมือนกัน ผิดเพียงตำแหน่งแขนคู่ สารทั้งหลายล้วนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ คอยสกัดกั้นออกซิเดทีฟ สเตรส ที่เกิดขึ้น
แต่เมื่ออายุมากขึ้น สารเหล่านี้ค่อยๆ ลดน้อยลง เว้นแต่ได้รับจากอาหารเพิ่มเติม จึงเข้าใจว่าลูทีน ซีแซนทีน เป็นสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญ คอยดูดแสงสีฟ้า และ UV ที่ทำลายจอตาเพราะ พบว่าผู้ที่เป็นโรคจอประสาทตาเหลือสารนี้อยู่น้อยเต็มที
พบว่าปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวันคือ 6 มก. ลูทีน ซีแซนทีนมีมากใน ผักโขม บรอกโคลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง แต่ขนาด 6 มก.ที่ร่างกายต้องการต่อวันนั้น ต้องใช้ผักโขมถึง 5 ชามสลัด
นอกจากลูทีนซีแซนทินแล้ว วิตามินเสริมที่ช่วยป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่ วิตามินซี ขนาด 500 มก. วิตามินอี 400 IU สังกะสี 80 มก. ทองแดง 2 มก. ก็มีประโยชน์มากโดยเฉพาะโอเมก้า3 น้ำมันปลา ก็ช่วยป้องกันภาวะจอประสาทตาเสื่อมได้
ลูทีน ซีแซนทีน และโอเมก้า3 จึงเปรียบเหมือนคู่หูผู้เล่นคอมพิวเตอร์ ด้วยประการฉะนี้ หากได้โคลีน และวิตามินบีทั้งหลาย เข้าไปครบทีมย่อมช่วยทำให้สมองแจ่มใส คลายเครียด อีกทั้งต่อต้านไขมัน คอเลสเตอรอล โฮโมซิสทีน ให้ห่างไกลจากภาวะเส้นเลือดอักเสบ แข็ง ตีบตันอีกด้วย ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม หรือแมคคูล่าเสื่อม ยังต้องหลีกเลี่ยงสารพิษต่อหลอดเลือด งดบุหรี่ กาแฟ
ต้อกระจก
เป็นอีกโรคแห่งความเสื่อมของดวงตา ที่สามารถป้องกันได้ ตัวการสำคัญที่ทำลายเลนส์ตาคือ รังสี UV แม้จะมีกระจกตาเป็นด่านหน้า คอยตัดแสงไปบ้างก็ตาม คลื่นรังสี UV ที่ผ่านเข้ากดดันต่อเลนส์ตาก็ก่อความเสียหายให้ขุ่นมัวลงทีละน้อย การป้องกันที่ดีคือ แว่นกันแดด ที่ป้องกันรังสี UV ไม่ใช่เพียงฟิล์มสีดำลดความสว่าง
พบว่าโดยธรรมชาติรอบๆ ดวงตา มีสารต้านอนุมูลอิสระ ตั้งแต่วิตามินซี, อี, สังกะสี, กลูต้าไทโอน อยู่สมบูรณ์ ซึ่งก็ต้องได้จากอาหารประจำวัน ยาหยอดตาที่ช่วยได้มากคือ N–acetyl carnosine โดยมีรายงานว่าสามารถช่วยให้เลนส์ตาใสขึ้น ในระยะ 2 – 3 เดือน (ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ หรือสั่งซื้อทาง Internet) ดังนั้นหากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ก็ควรเสริม สารพวกลูทีน ซีแซนทีน โอพีซี กลูต้าไทโอน ตลอดจนโคคิวเทน และกรดไลโปอิค หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษ อนุมูลอิสระ ของทอด เหม็นหืน
ต้อเนื้อ
เป็นก้อนเนื้อที่ด้านในของตาขาว เป็นความเสื่อมที่เกิดจากการกระทบสิ่งระคายเคือง เช่นลมแรงเป็นประจำ อาจโตลามไปปิดตาขาว วิธีรักษาง่ายๆ คือ ใส่แว่นกันลม หยอดตาด้วยสารลดการอักเสบ ก้อนเนื้อจะค่อยๆ เล็กลง หากไม่ได้ผลจึงพบแพทย์ให้ผ่าตัดออกไป…สารอาหารที่น่าจะมีบทบาทช่วยต้านอักเสบคือ วิตามินซี และโอพีซี โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเป็นบ่อยๆ ควรงดไขมันทรานส์ ของทอด เพิ่มน้ำมันปลาเป็นประจำ
กุ้งยิง
เป็นการอักเสบของรูขุมขนที่เปลือกตาบนหรือล่างคล้ายสิว เหตุจากการอุดตันติดเชื้อโรค เจริญเติบโตต่อ เป็นหัวหนอง ในกรณีนี้การพบแพทย์ น่าจะแก้ปัญหาได้ดี ด้วยการสกิดหัวหนองที่เปลือกตาบน หรือผ่าตัดกรณีที่เป็นส่วนล่างของเปลือกตาข้างด้านใน วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือ ประคบร้อน เช่น ใช้ไข่ต้มวางที่เปลือกตา
อาหารเสริมพลังเม็ดเลือดขาวคือ กลุ่มโพลีแซคคาไรด์ เช่นเบต้ากลูแคนและน้ำมันปลา ผักผลไม้หลากสี รวมทั้ง โอพีซี ผู้ที่ชอบเป็นตากุ้งยิงบ่อยๆ ควรงดอาหารทอด ไขมันทรานส์ เพิ่มน้ำมันปลา เป็นประจำ
ตาแดง
มีอาการคันคล้ายเม็ดทรายเข้าตา พยาธิสภาพอยู่ที่เยื่อบุเปลือกตาด้านใน แบ่งสาเหตุได้เป็น 3 ประเภทคือ
- ติดเชื้อแบคทีเรีย มีขี้ตาเหลืองเหนียว เริ่มแรกมักเป็นข้างเดียว
- ติดเชื้อไวรัส มีอาการเคือง ขี้ตาขาวใส ไม่มีหนอง ส่วนใหญ่จะหายไปเองใน 7 วัน
- อาการแพ้ สังเกตว่ามีน้ำตามาก คัน เปลือกตาบวมทั้งสองข้างเท่ากัน
การรักษาในกลุ่มติดเชื้อแบคทีเรีย ควรใช้ยาหยอดตาที่เป็นปฏิชีวนะ เช่น คลอแรม พร้อมประคบร้อนด้วยไข่ต้ม ล้างตาด้วยน้ำเกลือสมดุล (Isotonic saline) งดใส่คอนแทกเลนส์ เสริมด้วย โอพีซี ส่วนกลุ่มติดเชื้อไวรัส และอาการแพ้ มักให้หยอดยาแก้แพ้ ที่เป็นสเตียรอยด์ สารอาหารคือ วิตามินซี กับโอพีซี ลดอักเสบ และแร่ธาตุสังกะสี เป็นสารอาหารช่วยต้านโรคตาแดง
ตาแห้ง
เป็นอาการผิดปกติมิใช่โรค สาเหตุเช่น ขาดวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินบี ซี โดยเฉพาะกรดไขมัน โอเมก้า3 น้ำมันปลา วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือใช้น้ำตาเทียมหยด แล้วหาสาเหตุที่เกี่ยวข้อง เสริมอาหารที่อาจขาดแคลนจนเป็นที่มาของอาการผิดปกติ กิงโกะก็เป็นสารอาหารที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต รวมถึงตาและสมอง แต่การซ่อมแซมเนื้อเยื่อนัยย์ตา ก็เป็นสิ่งสำคัญ
ตาบอดกลางคืน (ตาบอดไก่, night blindness)
เป็นอาการปรับตัวช้าหลังแสงจ้า เข้าที่มืดกระทันหันจะมองไม่เห็นชั่วครู่ กลางวันมองเห็นได้ปกติ เป็นสัญญาณเบื้องต้นของอาการขาดวิตามินเอ รักษาด้วยการทานวิตามินเอ วันละ 25,000 หน่วยสเกล (IU) หากตั้งครรภ์ให้ทานวันละไม่เกิน 10,000 IU
แร่ธาตุสังกะสี ช่วยการใช้วิตามินเอ และสำคัญต่อโรคแมคคูล่าเสื่อมด้วย ใช้ขนาด 15 – 30 มก./วัน ควรใช้แบบที่มีแร่ธาตุทองแดงพ่วงขนาด 1 – 3 กรัม เพราะการทานสังกะสีติดต่อกันนานๆ อาจปิดกั้นทองแดง ทำให้ขาดได้
ต้อหิน (glaucoma)
เป็นโรคตาอันตราย จากความดันภายในลูกตาเพิ่ม จากการที่ท่อน้ำตาอุดตัน ไม่สามารถระบายของเหลวภายในลูกตาออกไปได้ สมควรพบจักษุแพทย์ เพราะรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ หากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะอาการปวดเฉียบพลันที่ดวงตา หรือมองไม่ชัดเจนกระทันหัน ให้รีบพบจักษุแพทย์ด่วน
อาการสำคัญคือ ปวดในลูกตา รวมถึงปวดศีรษะ ข้อสังเกตแยกจากโรคจอประสาทตาเสื่อม คือ ผู้ป่วยต้อหินนั้น การมองเห็นด้านข้างของตาที่ผิดปกติจะเกิดนำก่อน (มองตรงกลางภาพได้ชัดเจน ขอบภาพมองไม่ชัด) มองเห็น “รัศมี” รอบดวงไฟ
พบว่าการออกกำลังกายที่พอเหมาะ ช่วยลดความดันภายในตาได้ อาหารที่ควรเสริมคือ ที่มีวิตามินซีขนาดสูง และโอพีซี
มีงานวิจัยว่า กรดแอลฟาไลโปอิค ซึ่งเป็น superantioxidant อาจช่วยบำบัดโรคต้อหินได้ ขนาดที่ใช้คือ 150 – 300 มก./วัน แมกนีเซียมขนาด 200 มก./วัน ช่วยให้มีการไหลเวียนเลือด และการมองเห็นดีขึ้น
หยากไย่ในตา
เป็นอาการที่พบในผู้สูงอายุ แต่คนอายุน้อยที่ขาดสารอาหาร ผสานกับผลกระทบกระแทก หรือความเครียดก็เกิดขึ้นได้ อาการคือ เห็นเป็นลูกน้ำ หรือหยากไย่ลอยในดวงตา ไม่ว่าหลับตาหรือลืมตา บางจังหวะอาจจะเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบร่วมด้วย สาเหตุเกิดจากน้ำวุ้นลูกตา (Vitreous) เสื่อม, มีเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หรือน้ำวุ้นอักเสบติดเชื้อ เกิดเป็นรูรั่วที่ผิวด้านหลังน้ำวุ้นลูกตา ทำให้น้ำวุ้นไหลเข้าไปขังที่หน้าจอประสาทตา เมื่อน้ำวุ้นหดตัวควบแน่น กลายเป็นเส้นใยคอลลาเจน ล่องลอยไปมาระหว่างน้ำวุ้นกับจอประสาทตา รับรู้ได้ในจังหวะที่เส้นใยนี้ ลอยมาบังจุดรับภาพพอดี…เป็นอาการที่อันตราย หากลุกลาม บ่งว่ายังมีรูรั่ว จำเป็นต้องพบจักษุแพทย์โดยเร็ว