โคลีน (Choline) อยู่ในกลุ่มของวิตามินบี จัดเป็นสารอินทรีย์ ชอบจับตัวอยู่กับไขมัน เช่น เลซิทิน พบได้ใน จมูกข้าวสาลี ไข่แดง ตับหมู ตับวัว หัวใจ และผักใบเขียวทุกชนิด
โคลีนจะทำงานร่วมกับอินโนซิทอล (inositol) ในการกำจัดไขมัน และคอเลสเตอรอล โคลีนซึมเข้าสมอง และเข้าสู่เซลล์สมอง ช่วยส่งสัญญาณในเซลล์ประสาท จึงเป็นตัวช่วยลดการเกิดอัลไซเมอร์ แก้ปัญหาเรื่องความจำเสื่อม โคลีนคือส่วนประกอบหลักของสารเคมีในสมองที่เรียก อะซิทิลโคลีน (acetylcholine) อันมีบทบาทต่อความจำ และการควบคุมกล้ามเนื้อ
ผู้ที่มีสุขภาพดี แต่กินอาหารขาดสารโคลีนติดต่อกัน 30 วัน จะมีเอนไซม์ในตับสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ความผิดปกติของตับ เมื่อได้โคลีนเพิ่มก็ทำให้ระบบในร่างกายกลับสู่ปกติได้ ในอเมริกา ถือว่าโคลีนเป็นสารอาหารจำเป็นแก่ทารกมากเสียจน FDA สหรัฐกำหนดว่า สูตรนมทารกต้องมีโคลีนเป็นส่วนประกอบจึงจะได้ทะเบียนอย. ปริมาณบริโภคต่อวันในผู้ใหญ่คือ 500 – 1000 มก. ต่อวัน ขนาดที่ใช้ในโรงพยาบาลคือ วันละ 1 – 5 กรัม ยังไม่มี RDA อย่างเป็นทางการ ควรกินพร้อมอาหาร เพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ดี
โคลีนมักอยู่ในรูปฟอสฟาติดิลโคลีน (Phosphatidyl choline) ควรใช้โคลีนร่วมกับ แอลคาร์นิทีน วิตามินบี12 กรดโฟลิก หรือวิตามินบีรวมเสมอ ไม่เคยมีรายงานเกี่ยวกับอาการพิษของโคลีน แต่อาจพบกลิ่นตัวแรงในผู้ที่บริโภคปริมาณมาก เช่นเดียวกับเลซิทิน
ประโยชน์
- โคลีนจะจับตัวกับคอเลสเตอรอล ทำให้คอเลสเตอรอลไม่เกาะตัวที่ผนังหลอดเลือด จึงปกป้องการเกิดหลอดเลือดแข็งตีบตันได้ทางหนึ่ง
- ช่วยมิให้คอเลสเตอรอลตกตะกอนในถุงน้ำดี ป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี ลดระดับคอเลสเตอรอล
- เป็นวิตามินที่เกี่ยวข้องกับความจำ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความจำเสื่อม เป็นตัวช่วยสำคัญในโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมักใช้ขนาดสูง 1 – 5 กรัม/วัน
- ช่วยการทำงานของตับในการกำจัดพิษ ผู้ที่ขาดโคลีนจะเกิดตับแข็ง ตับอักเสบ โดยเฉพาะผู้ดื่มสุรา ควรเสริมโคลีน
- ผู้ที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ควรนึกถึงสภาวะขาดโคลีน หรืออาจกล่าวได้อีกว่า อยากมีความจำดี ต้องไม่ขาดโคลีน หรือทานอาหารที่มีโคลีนสูง
- การขาดโคลีนยังนำมาซึ่งโรคหัวใจหลอดเลือด และอัพฤกษ์ อัมพาต จากหลอดเลือดแข็ง เปราะ แตกง่าย
- ประโยชน์ต่อโรคที่จะทุเลาลงถ้าตับแข็งแรง เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อคโกแลตซีสต์
- การกินโคลีนร่วมกับกรดแพนโททีนิค อาจช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อย