สารอาหารจากพืช ช่วยลดหรือควบคุมระดับคอเลสเตอรอล เป็นที่ทราบกันว่า คอเลสเตอรอลเลว LDL เป็นสาเหตุหนึ่งของการอุดตันหลอดเลือด นำไปสู่โรคหัวใจหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาตทั้งหลาย
วงการแพทย์ใช้ยาลดไขมัน (statin) ซึ่งออกฤทธิ์ต่อตับ กดการสร้างคอเลสเตอรอล…ผลเสียข้างเคียงคือ กดการสร้างโคคิวเทน อเซทิลโคลีน ซีโรโทนิน เมลาโทนิน ไปด้วย
เราทราบดีว่าพืชไม่มีคอเลสเตอรอล อีกทั้งมีสารที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายคอเลสเตอรอล ที่ให้ผลทางเคมีคือ ไปแย่งจับตัวกับไมเซลล์ (micelles) สิ่งที่พาคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย ทำนองเดียวกับไฟโตเอสโตรเจนจากพืช ไปแย่งจับกับตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน ลดฤทธิ์ของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เหนี่ยวนำการเกิดมะเร็งหลายชนิด
เรียกสารพืชที่มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายคอเลสเตอรอล ว่าไฟโตสเตอรอล (phytosterol) ซึ่งก็ยังแบ่งได้เป็นอีก 2 กลุ่มใหญ่ คือ แพลน สเตอรอล (plant sterol) กับแพลน สตานอล (plant stanol) โดยทั้งสองกลุ่มต่างกันเพียงพันธะคู่กับพันธะเดี่ยว ที่โมเลกุลของคาร์บอนในวงแหวนของสายโมเลกุล การศึกษาพบว่า ไฟโตสตานอลวันละ 1.5 – 1.8 กรัม สามารถยับยั้งการดูดซึมคอเสลเตอรอลได้ 30 – 40 % แต่การจะให้ได้สารอาหารปริมาณที่กล่าว ต้องกินผักมื้อละกว่า 10 กก.
สารสกัดไฟโตสเตอรอล จึงเป็นทางเลือกหลัก โดยอาจนำมาเติมเข้ากับอาหารหลัก หรือผลิตเป็นอาหารเสริม ดูเหมือนว่าหากกลไกอธิบายการควบคุมคอเลสเตอรอล เกิดขึ้นได้จริง ก็เป็นการช่วยลดการดูดซึม LDL คอเลสเตอรอลร้าย โดยไม่มีผลกระทบต่อ HDL และการสร้างคอเลสเตอรอลปกติของตับ จึงช่วยแก้ปัญหาผลกระทบตามมาจากคอเลสเตอรอลในเลือดสูง เช่น หลอดเลือดอุดตัน แข็งกระด้าง ตีบตัน ความดันสูง สโตรค ฯลฯ
ในผลิตภัณฑ์แพลนสเตอรอล ยังนิยมเติมสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง (superantioxidants) เช่น โอพีซี เข้าไว้ด้วย เพื่อช่วยปกป้องออกซิเดชั่นต่อสารสำคัญ และยังเข้าไปปกป้อง LDL ส่วนที่มีอยู่แล้วในกระแสเลือด มิให้ถูกอนุมูลอิสระจู่โจมทำลายให้กลายเป็น LDL พิษ เกาะติดผนังหลอดเลือดโดยง่าย
ปริมาณแพลนสเตอรอลที่ร่างกายได้รับตามปกติจากอาหารประจำวัน ไม่มีผลลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในร่างกาย กล่าวคือ ต้องใช้สารอาหารปริมาณมากเป็น 10 กก.ต่อมื้อ จึงจะเกิดผล…สารสกัดที่นำมาเติมหรือเสริมอาหารจึงเป็นทางเลือก
ยังพบว่าการเสริมสารแพลนสเตอรอล มากเกินวันละ 3 กรัมก็ไม่มีผลต่อการลดคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้น (จึงไม่มีประโยชน์หากคิดว่ากินมากจะลดคอเลสเตอรอลได้มาก) ผู้ที่ได้ยาลดไขมันสแตติน (statin) อยู่แล้ว คงต้องปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีผลกระทบกันได้ แต่หากต้องเลือกระหว่าง การใช้ยาลดไขมันสแตติน กับแพลนสเตอรอลแล้ว แพลนสเตอรอล น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากมิได้ปิดกั้นการสร้างโคคิวเทน และสารต่อเนื่องที่จำเป็นของร่างกาย
อย่างไรก็ตาม สตรีมีครรภ์ ให้นมบุตร หรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรใช้วิธีเพิ่มผักผลไม้(ที่สะอาด) ดีกว่า เพราะได้สารพืช และกากใยอาหารเป็นประโยชน์ต่อการขับถ่ายด้วย