ตะกร้าสินค้า

ไม่พบสินค้าในรถเข็น

ปัญหาผิวพรรณ

ผิวแพ้ง่าย

ให้เรตสมาชิก: 0 / 5

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

 

เครื่องสำอาง

        “เครื่องสำอาง” ครอบคลุมถึงวัสดุที่นำมาใช้กับร่างกายเพื่อก่อให้เกิดความสะอาด ความงามและความมีเสน่ห์ ประเภททำความสะอาดผิว ประเภทสำอางผิว ประเภทสำอางผม ประเภทสำอางตา ประเภทสำอางเล็บ

 

ผิวแพ้เครื่องสำอาง

        อาการแพ้ที่พบบ่อยคือ เกิดจากสบู่ล้างหน้าที่อ้างสรรพคุณรักษาสิว ซึ่งมีส่วนผสมยาลอกผิว เมื่อใช้บ่อยๆ จะเกิดระคายเคือง กัดผิว เกิดรอยแดงบริเวณรอบปากและหน้าลอกเป็นขุย ลิปสติกก็ทำให้เกิดการแพ้ได้ เกิดปากลอก ขอบปากดำแห้งและตึง ถ้าไม่เลิกใช้ก็จะเป็นอยู่ตลอดไป มีสารเคมีที่อาจกระตุ้นให้ผิวหนังเกิดปฏิกิริยากับแสงแดด เกิดเป็นรอยดำได้

 

แล้วจะรู้ได้อย่างไร

        ผู้ใช้อาจจะทำการทดสอบผิวตัวเอง โดยใช้เครื่องสำอางทาบริเวณท้องแขนใกล้ข้อพับ ทิ้งไว้โดยไม่ต้องล้างออกประมาณ 24ชั่วโมง ถ้าเป็นผื่นแดงบริเวณทดสอบ ก็แสดงว่าแพ้สารเคมีตัวที่นำมาทดสอบนั้น

 

ผิวชนิดไหนแพ้ง่าย

        ลักษณะของผิวแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 ชนิดคือ ผิวแห้ง ผิวมัน และผิวธรรมดา ส่วนผิวชนิดไหนจะเกิดการแพ้ได้ง่ายกว่ากัน  คำตอบคือทุกชนิดมีโอกาสจะแพ้ หรือเกิดจากปัญหาการใช้เครื่องสำอางได้เท่าๆ กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเครื่องสำอางกับผิว คือจะต้องรู้จักเลือกใช้เครื่องสำอางให้เหมาะกับผิว

        ยกตัวอย่าง คนผิวมัน มีสิว แล้วไปเลือกใช้ครีมล้างหน้าหรือรองพื้นที่เป็นมัน ก็จะยิ่งทำให้ผิวมันมากขึ้น เกิดการอุดตันของต่อมไขมันทำให้สิวกำเริบ หรือคนผิวแห้งไปใช้น้ำยาประเภทล้างไขมัน เช่น น้ำยาเช็ดหน้าที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือใช้สบู่ล้างหน้าบ่อยๆ ก็จะทำให้หน้ายิ่งแห้ง น้ำมันหล่อเลี้ยงที่มีอยู่น้อยถูกทำลายไปหมด เกิดหน้าตึงลอกเป็นขุย ผิวแต่ละคนแตกต่างกัน เครื่องสำอางที่คนหนึ่งใช้แล้วดูสวยขึ้น อีกคนเอาไปใช้อาจได้ผลไม่เหมือนกัน การจะใช้เครื่องสำอางให้ได้ประโยชน์ขึ้นอยู่กับวิธีเลือกชนิดที่เหมาะสมกับผิวของตน

 

แพ้แล้วอาการเป็นอย่างไร

        อาการแพ้มีทั้งแบบแพ้มากแพ้น้อย แพ้แบบเฉียบพลัน คือ หลังการใช้ 3 – 4 ชั่วโมง ก็มีอาการทันที หรือแบบเรื้อรังคือ ค่อยๆ เป็นทีละน้อยจนมากขึ้นทุกที กลไกการแพ้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดคือ

  • ชนิดแรก อาการระคายเคือง เนื่องจากของที่ใช้มีความเป็นกรดหรือเป็นด่าง หรือผสมสารที่มีฤทธิ์ลอกผิวแรงไป เมื่อนำมาใช้ เกิดการกัดผิวจนแห้งลอกตึงและแดง สารประเภทนี้ใช้กับใครก็จะเกิดการแพ้ขึ้นทุกราย จะเป็นมากน้อยแล้วแต่ใช้มากใช้น้อย หรือใช้บ่อยแค่ไหน ตลอดจนลักษณะผิวของแต่ละคน
  • ชนิดที่สอง เป็นการแพ้แบบร่างกายสร้างภูมิแพ้ เป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวบุคคล บางคนมีผิวไวต่อการแพ้ชนิดนี้ สารที่คนอื่นใช้ไม่แพ้ แพ้อยู่คนเดียว เมื่อรู้สาเหตุต้องหลีกเลี่ยงไปใช้ของที่ไม่มีสิ่งที่แพ้ผสมอยู่ เช่น ครีมกันแดด น้ำหอมบางชนิดบริเวณที่แพ้จะเกิดผื่นแดงเป็นจ้ำๆ และคัน ถ้าเป็นชนิดเฉียบพลันอาจมีการบวมและมีน้ำเหลือง
  • ชนิดที่สาม เป็นปฏิกิริยาออกฤทธิ์โดยตรงของเครื่องสำอาง เช่น ฮอร์โมนใช้แล้วทำให้เกิดสิว ครีมลอกฝ้าใช้แล้วหน้าด่างหรือหน้าดำ หรือประเภทสมุนไพรใช้แล้วทำให้เกิดความไวต่อแสงเมื่อถูกแดด เกิดอาการแพ้แสงแดดหรือดำ

แพ้มากแสบร้อน เยิ้ม (oozing) แก้อย่างไร

        ผิวที่ถูกระคายเคือง จะบอบบางอ่อนแอจนทาครีมใดๆ เช่น มอยส์เจอร์ไรเซอร์ไม่ได้ เบื้องต้นให้ทำการประคบเปียก (wet dressing) ด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือนอร์มัล (แบบที่ใช้แช่คอนแทคเลนส์) โปะทิ้งไว้นาน ๆ จนอาการดีขึ้น อาจหยดน้ำมันวิตามินอีได้หลังจากหายเยิ้มแล้ว ห้ามฟอกสบู่หรือทาครีมใดๆ บริเวณผิวที่แพ้

 

แพ้แล้วหาสาเหตุได้ไหม

        การแพ้เครื่องสำอางที่ใช้มาไม่นานผู้ใช้มักรู้ตัวเอง เพราะเกิดคันและมีผื่นขึ้นมาหลังจากการใช้ ส่วนของที่ใช้มานานแล้ว เพิ่งมาเกิดการแพ้ทีหลังก็เป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องแพ้ตั้งแต่เริ่มใช้ใหม่ๆ เมื่อสงสัยว่าตัวไหนเป็นสาเหตุก็ควรหยุดใช้ แต่ถ้าใช้อยู่หลายชนิด ก็ควรหยุดใช้ทั้งหมดแล้วเริ่มใช้ใหม่ทีละอย่าง

        ถ้าจะให้แน่นอนและเพื่อประโยชน์ในการเลือกซื้อเครื่องสำอางคราวต่อไป ก็คือการทำการทดสอบผิวหนังที่เรียกว่า แพทเทส โดยเอาเครื่องสำอางนั้นมาทดสอบผิว ถ้าเกิดอาการผื่นแดงขึ้นบริเวณที่ทดสอบ ก็แสดงว่าแพ้สารนั้น ผู้ใช้อาจทำการทดสอบผิวตัวเองโดยใช้เครื่องสำอางบริเวณแขน ใกล้ข้อพับ ถ้ามีผื่นแดงและอาการคันเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมง ก็แสดงว่าแพ้

 

เครื่องสำอางแบบไหนก่อการแพ้ได้บ่อย

        เครื่องสำอางที่มีคุณภาพ ไม่ควรมีสารที่ทำให้เกิดการแพ้ผสมอยู่ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรจะมีในจำนวนจำกัด เครื่องสำอางที่พบแพ้บ่อย ได้แก่ ยาย้อมผม น้ำยาดัดผม น้ำหอม ครีมกันแดด SPF สูงๆ จำเป็นต้องใส่สารเคมีออกฤทธิ์ หลายๆ รายการ จึงมีโอกาสก่ออาการกับผิวได้ง่ายกว่า แบบใส่น้อยรายการ

 

แบบไหนแพ้น้อย

        เครื่องสำอางชนิดแพ้น้อย เขาจะไม่ผสมสารที่แพ้ง่าย เช่น น้ำหอม ยากันบูด หรือน้ำมันบางชนิด โอกาสที่ผิวจะแพ้จึงเกิดขึ้นน้อยกว่าเครื่องสำอางธรรมดา 

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าเครื่องสำอางชนิดแพ้น้อย จะไม่ทำให้เกิดการแพ้โดยสิ้นเชิง

 

วิธีเลือกเครื่องสำอางสำหรับผิวแพ้ง่าย

เคล็ดลับเลือกเครื่องสำอางสำหรับผิวแพ้ง่าย :-

  1. เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบน้อยชนิด เพราะยิ่งมากส่วนผสมยิ่งเพิ่มโอกาสแพ้
  2. ครีมกันแดด แพทย์ผิวหนังแนะนำที่ SPF15 โดยต้องกรองได้ทั้ง UVA และ UVB ผู้แพ้ง่ายควรใช้ physical sunscreen  ซึ่งมีอยู่ 2 ตัวคือ TiO 2 และ ZnO เท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงชนิดที่เป็นสารเคมี หรือมีผสมอยู่น้อยที่สุด ยิ่ง SPF สูงยิ่งเพิ่มชนิดและปริมาณเคมี
  3. อย่าใช้เครื่องสำอางหมดอายุ นอกจากหมดคุณภาพ ส่วนผสมกลายตัวแล้ว เชื้อโรคยังอาจเติบโตได้เพิ่มขึ้น
  4. เลี่ยงเครื่องสำอางกันน้ำ (Waterproof) เหตุเพราะติดทนทาน นานจนล้างยาก ต้องใช้สารชำระล้างหลายชนิดเพื่อละลายและลอกไขมันออก เพิ่มโอกาสแพ้และระคายเคืองต่อผิว ทั้งตอนใช้และเวลาล้าง
  5. เลือกแบบแป้งดีกว่าแบบน้ำ  เพราะแป้งช่วยดูดซับความมันได้ แล้วยังใส่สารกันเสียหรืออื่นๆ น้อยกว่า (แต่แป้งกันแดดไม่ได้ผล)
  6. ใช้ดินสอเขียนขอบตาและคิ้วดีกว่าeyeliner  ชนิดเหลว เพราะ liquid eyeliners  จะมียางลาเทกซ์เป็นส่วนประกอบ  ซึ่งแพ้ง่าย, ล้างยากกว่าดินสอ
  7. สีทาเปลือกตา เลือกชนิด earth–toned จะระคายเคืองน้อยกว่าสีโทนอื่นๆ  เพราะสีที่เข้มมักต้องผสมเคมีหลายๆ ชนิดเข้าไป เกิดโอกาสแพ้สูง
  8. ดินสอเขียนขอบตาและมาสคาร่า ควรเลือกสีดำจะปลอดภัยกว่าสีอื่น และโอกาสแพ้น้อยกว่า เพราะไม่ต้องใช้สารสีหลายขนาน
  9. เลือกครีมรองพื้นชนิดที่มีซิลิโคน (silicone) ถ้าจำต้องใช้รองพื้นชนิดเหลวแทนแป้งแบบแห้ง ก็ควรเลือกที่เป็นน้ำมันซิลิโคน เพราะไม่ก่ออาการแพ้
  10. อย่าทาเล็บโดนผิวอ่อนบางหรือเยื่อบุ  ระวังเล็บที่ทายังไม่แห้งไปโดนหน้าหรือดวงตา เพราะเป็นผิวที่บอบบางอ่อนไหวง่าย acetone ในยาทาเล็บอาจทำให้เยื่อบุผิวอักเสบได้
  11. สังเกตจดจำส่วนผสมในเครื่องสำอางที่เคยแพ้ ควรบันทึกเป็นข้อมูลสำคัญเฉพาะตัว เพื่อเตือนสติก่อนใช้
  12. อย่าเปลี่ยนเครื่องสำอางบ่อย เพราะต้องเริ่มต้นทดสอบผิวแพ้ทุกครั้ง แม้จะดูรายการประกอบว่าไม่มีอะไรแตกต่าง
  13. การเริ่มใช้เครื่องสำอางใหม่ใดๆ ต้องทดสอบที่ท้องแขนหรือติ่งหูทุกครั้ง เพราะฉลากอาจบอกส่วนผสมได้ไม่หมด
  14. เลเบลที่ว่า Hypoallergenic แพ้น้อย ก็ยังแพ้มากได้ในคนขี้แพ้ ! 

EasyCookieInfo