ตะกร้าสินค้า

ไม่พบสินค้าในรถเข็น

อาหารต้านโรค

น้ำมันมะพร้าว

ให้เรตสมาชิก: 0 / 5

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

เคยมีการเข้าใจผิดว่า น้ำมันอิ่มตัวบางประเภท (เช่น น้ำมันจากสัตว์ และน้ำมันมะพร้าวที่ถูกเติมไฮโดรเจน) ไปเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โดยถือโอกาสสรุปว่า “น้ำมันอิ่มตัวทั้งหมดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ให้หันไปบริโภคน้ำมันไม่อิ่มตัว (unsaturated oils) โดยเฉพาะน้ำมันถั่วเหลือง

แต่ผลลัพธ์ต่อมาไม่นานก็คือ ผู้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองมีน้ำหนักตัวเพิ่มและเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน และโรคอ้วน เพราะน้ำมันถั่วเหลือง เมื่อใช้ความร้อนสูง จะถูกเติมไฮโดรเจน (Hydrogenated oil) แล้วเปลี่ยนเป็นกรดไขมันชนิดทรานส์ (Trans fatty acid หรือ Trans Fats) ที่เป็นอันตราย ไปเพิ่มคอเลสเตอรอล และเกิดสารก่อมะเร็ง

ยิ่งไปกว่านั้นน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ขนาดโมเลกุลยาว (Long chain fatty acid) ไม่เปลี่ยนเป็นพลังงานเมื่อบริโภคเข้าร่างกาย แต่กลับเปลี่ยนเป็นไขมันสะสม เกิดโรคอ้วน

ส่วนน้ำมันมะพร้าว เป็นกรดไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลยาวปานกลาง (Medium chain fatty acid–MCFA คือ 8–12 คาร์บอนอะตอม) ไม่เกิด Trans Fats เมื่อถูกความร้อนสูง กลับเคลื่อนตัวได้รวดเร็วจากกระเพาะสู่ลำไส้ ดูดซึมเข้ากระแสเลือด ตรงไปสู่ตับและถูกใช้เป็นพลังงานในตับโดยเร็ว ยังผลให้อัตราเผาผลาญของร่างกายยกระดับสูงขึ้นตลอดวัน เพราะทำให้เกิดความร้อนสูง (Thermogenesis) ไปเร่งให้ต่อมไทรอยด์ทำงานเร็วขึ้น คล้าย Hyperthyroid

ในขณะที่ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน สายโมเลกุลยาวมีผลเกิด Hypothyroid คือ เฉื่อยชา อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

กลายเป็นว่าผู้กินน้ำมันมะพร้าว 2 – 3 ช้อนโต๊ะตั้งแต่เช้า ช่วยลดความอ้วนได้ดี เพราะ active (หากไม่บริโภคมากเกินไป)

เคยมีการนำน้ำมันมะพร้าวที่ขายไม่ออกไปเลี้ยงหมู ผลคือหมูผอมลง

 

ไขมันสายโมเลกุลปานกลาง(Medium chain Triglyceride–MCT) เช่น น้ำมันมะพร้าว น่าจะเหนือกว่าดังนี้

1. ไขมันสัตว์มักเป็นแบบอิ่มตัวสายโมเลกุลยาว ซึ่งไม่เหมาะต่อการนำไปใช้สร้างผนังเซลล์ เพราะจะได้ผนังเซลล์ที่อาหารและออกซิเจนซึมผ่านยาก โดยเฉพาะผนังไมโตคอนเดรียที่เต็มไปด้วยไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลยาว (หรืออาจมาจากไขมันไม่อิ่มตัวสายโมเลกุลยาว แล้วถูกเติมออกซิเจน) อันเป็นที่มาของภาวะดื้ออินซูลิน หรือกลูโคสซึมผ่านไม่ได้นั่นเอง

ทำให้ผู้ที่กินน้ำมันพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่ว น้ำมันงา น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด จำเป็นต้องกินสารต้านอนุมูลอิสระให้มากพอ เพื่อต้านการเกิดออกซิเดชั่นจากอนุมูลอิสระ จนกลายเป็นผนังเซลล์ที่เสื่อมสภาพ (แก่ชรา) ไป

ส่วนน้ำมันมะพร้าวปราศจากไขมันทรานส์หรือการแปรเปลี่ยนเป็นไขมันทรานส์เมื่อถูกความร้อน เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวอุดมด้วยกรดไขมันอิ่มตัว (MCT) ต้านทานต่อการเติมออกซิเจน ไฮโดรเจน ต้านออกซิเดชั่น…ต้านอนุมูลอิสระนั่นเอง จึงปลอดภัยต่อการเกิดซีสต์เต้านม ช็อคโกแลตซีสต์ สะเก็ดเงิน การอักเสบของผิวหนังทั้งหลาย (จึงกินก็ได้ ทาก็ดี)

น้ำมันมะพร้าวจึงเป็นทางเลือกที่เหนือกว่าน้ำมันพืชทั้งหลายในการปรุงร้อน เช่น ผัด ทอด เพราะอย่างไรเสีย ข้อได้เปรียบของไขมันอิ่มตัวในการไม่ต้องโดนเติมออกซิเจน แปลงเป็นไขมันทรานส์เหมือนไขมันไม่อิ่มตัวทั้งหลาย ก็เป็นสาระสำคัญอยู่แล้ว

2. คอเลสเตอรอล ที่น้ำมันมะพร้าวถูกกล่าวหานั้น เป็นชิ้นงานวิจัยจากการให้ผู้ที่บริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำเปลี่ยนเป็นน้ำมันข้าวโพด แล้ววัดค่าคอเลสเตอรอลปรากฏว่า ลดลงจาก 179.6 g146.0 mg/dl และ LDL ลดลงจาก 131.6 g 100.3 mg/dl ทำให้ดูเหมือนน้ำมันข้าวโพดดีกว่า

แต่พบว่า HDL ก็ลดลงจาก 43.4 g 25.4 mg/dl

แปลว่าอัตราส่วน คอเลสเตอรอลต่อ HDL

กรณีบริโภคน้ำมันมะพร้าว คือ 179.6 : 43.4 = 4.14 mg/dl

กรณีบริโภคน้ำมันข้าวโพด คือ 146.0 : 25.4 = 5.75 mg/dl

ซึ่งงานวิจัยระยะต่อมาสรุปว่าตัวเลขที่ระบุความเสี่ยงต่อโรคหัวใจที่ดีที่สุด ไม่ใช่ค่าคอเลสเตอรอลต่ำอย่างเดียว แต่เป็นอัตราส่วนของคอเลสเตอรอลรวม ต่อHDL ซึ่งต่ำ จึงจะดี โดยยึดค่าอัตราส่วน เท่ากับ 5.0 ถือว่าปกติ

สูงกว่า 5.0 ถือว่ามีความเสี่ยงสูง

ต่ำกว่า 5.0 ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ

เช่น บุคคลผู้หนึ่งมีคอเลสเตอรอลรวม = 180 mg/dl ดูเหมือนต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วไป คือ 200 mg/dl แต่หากมี HDL = 32 mg/dl จะได้อัตราส่วน = 180/32 = 5.6 แสดงถึงความเสี่ยงสูง

ในขณะที่อีกคนมีค่าคอเลสเตอรอลรวม = 240 mg/dl ดูเหมือนเสี่ยงสูง แต่ ถ้ามี HDL = 50 mg/dl ผลอัตราส่วน = 240/50 = 4.8 กลับแสดงความเสี่ยงต่ำ

อย่างไรก็ตามก็คงต้องใช้ทางสายกลาง คือกินพอดี หากมากเกินก็ได้คอเลสเตอรอลล้นเกินทั้งนั้น…ก็เป็นอันตราย

3. ดีต่อโรคหัวใจ และไม่ใช่สารอุดตันหลอดเลือด มีการศึกษาพบว่า สารเริ่มต้นของพลักอุดตันหลอดเลือด (plaque) เป็นพวกกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ซึ่งมีการวิเคราะห์แผ่นไขมันที่เกาะหลอดเลือดพบว่าในอนุพันธ์คอเลสเตอรอล 26% เป็นกรดไขมันอิ่มตัว นอกนั้น (74%) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 38% และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 36%

อีกทั้งกรดไขมันอิ่มตัวที่พบก็ไม่ใช่กรดลอริค และกรดไมริสติค ซึ่งมีอยู่ในน้ำมันมะพร้าว

ส่วนกรณีที่น้ำมันมะพร้าวเป็นอันตรายต่อโรคหัวใจนั้น เป็นเฉพาะเมื่อน้ำมันนั้นถูกเติมไฮโดรเจนมาก่อน

ผลระบาดวิทยาพบว่าชนชาติที่บริโภคน้ำมันมะพร้าวเป็นประจำ มีคนเป็นโรคหัวใจต่ำกว่าชนชาติอื่นๆ แต่เมื่อเปลี่ยนไปใช้น้ำมันพืชอื่นเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ จึงพบผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น

แต่ก็มีผู้คัดค้านว่าอาจเป็นจากชีววิถีที่สุขสบายมากขึ้น ออกกำลังน้อยกินมาก เพราะไขมันทั้งหลาย กรัมต่อกรัมล้วนให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่ โดยผ่านกระบวนการสลายไขมันเป็น acetyl CoA ที่ตับ ซึ่งหากนำไปใช้สร้างพลังงานไม่หมด ก็จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันชนิดวง (ring) คือคอเลสเตอรอล โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวที่ล้นเกิน จะทำให้ตับสร้าง LDL มากกว่า HDL

คุณประโยชน์ที่เป็นสาระหลักทั้งหลาย จึงขึ้นกับความพอดีในการบริโภคด้วย

4. กินลดอ้วน จากการที่ให้พลังงานน้อย (กว่าชนิดสายโมเลกุลยาวเล็กน้อย คือ 8.6 กับ 9 Kcal/g) แต่ไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานดีขึ้น เร่งอัตราเผาผลาญ เกิดความร้อนจึงนำพลังงานที่สะสมออกมาใช้ โดยน้ำหนักเฉลี่ยลดได้ 36 ปอนด์/ปี หรือ 16.3 กก./ปี หรือประมาณ 1.4 กก./เดือน โดยใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิม

มีผู้ทดลองให้ MCT ก่อนอาหาร 30 นาที ช่วยให้ทานอาหารน้อยลง อธิบายว่า MCT ถูกเผาผลาญนำมาใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการอาหารลดลง

MCT เป็นไขมันที่ไม่เกาะตามที่ต่างๆ ของร่างกาย แต่จะถูกเผาผลาญเป็นพลังงานก่อน

อย่างไรก็ตามการใช้น้ำมันมะพร้าว น่าจะเป็นวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอัตราเผาผลาญจากการกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ แต่หากไม่มีการใช้แรงงานอย่างกระฉับกระเฉง หรือได้รับน้ำมันมะพร้าวมากไป ผลก็น่าจะเป็นความอ้วนแทนการลดอ้วน จึงไม่แนะนำให้ดื่มน้ำมันมะพร้าวมากๆ เพื่อลดความอ้วน (สาระแห่งการลดอ้วนคือ ลดแคลอรี่ลงมื้อละ 10% ตามเคล็ด slender faster ซึ่งอ่านรายละเอียดได้ในเรื่องอ้วน)

5. ภูมิคุ้มกัน MCT มีผลต่อการเผาผลาญโปรตีนเสริมภูมิคุ้มกัน และช่วยรักษาบาดแผลให้หายเร็วขึ้น

6. ไฟลวก MCT ร่วมกับน้ำมันปลา ลดการแยกสลายเนื้อเยื่อ และสร้างโปรตีนทดแทนดีขึ้น

7. วงการแพทย์ก็มองเห็นประโยชน์ของ MCT จึงมีการสกัด MCT ไปผลิตอาหารที่สลายให้พลังงานอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยในการฟื้นตัวของผู้ป่วย ภาวะพักฟื้น ท้องเดินในเด็กทารก

8. เบาหวาน โรคเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 (ขาดอินซูลินตั้งแต่เกิด) และชนิดที่ 2 (ดื้ออินซูลิน) ทำให้ต้องเพิ่มการฉีดมากขึ้น นอกจากฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจทำลายเซลล์ตับอ่อนจนก่อเบาหวานแล้ว กรดลอริคที่มีอยู่สูงมาก (48 – 52%) ของน้ำมันมะพร้าวช่วยฆ่าเชื้อโรค แล้วยังกระตุ้นตับอ่อนให้ผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญ คือ ความเป็นไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลปานกลาง (MCT) ของน้ำมันมะพร้าว สามารถดูดซึมผ่านผนังเซลล์เข้าสู่ไมโตคอนเดรียได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยอินซูลินเป็นตัวนำ จึงเหมาะในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย อยากอาหาร เนื่องจากมีน้ำตาลแต่เซลล์ดื้ออินซูลิน นำกลูโคสไปใช้ไม่ได้ แต่กรดไขมันขนาดกลางในน้ำมันมะพร้าว สามารถใช้เป็นอาหารหล่อเลี้ยงเซลล์โดยไม่ต้องพึ่งอินซูลินพาเข้าสู่เซลล์ (เข้าสู่เซลล์ได้เอง) ทำให้ผู้ป่วยไม่ขาดอาหาร เบาหวานทุเลา

น้ำมันพืชสายโมเลกุลยาวทั้งหลายทำให้อ้วน สันดาปได้ช้า ทำให้เฉื่อยชา อีกทั้งมีโอเมก้า6 สูงเกินอัตราของโอเมก้า3 ก่ออักเสบ ก่อโรคหัวใจหลอดเลือดสารพัด จึงถูกห้ามใช้ใน ผู้ป่วยเบาหวาน แต่น้ำมันมะพร้าวให้คุณประโยชน์ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับน้ำมันพืชทั่วไป…จึงใช้ได้ดี

การบริโภคน้ำมันมะพร้าวประจำ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน…ขนาดวันละ 2 – 4 ช้อนโต๊ะ

ข้อยกเว้น คือ ผู้ป่วยในระยะคีโตซิส (Ketosis) คืออาการมากขนาดเกิดสารคีโตน สะสมในเลือด ไตเสียเสื่อมสภาพ ตรวจพบ acetone bodies ในปัสสาวะ

9. ฆ่าเชื้อโรค กรดลอริคในน้ำมันมะพร้าว (มีสูง 48 – 53%) เป็นสารตัวเดียวกับนมน้ำเหลืองมารดา ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น monolaurin ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เป็นทั้งยาปฏิชีวนะ antivirus ฆ่ารา ยีสต์ และโปรโตซัว (เฉพาะเชื้อโรคชนิดที่มีเกราะหุ้มเซลล์เป็นไขมัน เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่, เริม, คางทูม, ซาร์, เอดส์ ส่วนแบคทีเรียชนิดดี ซึ่งเกราะหุ้มเซลล์มิใช่ไขมัน ไม่ถูกทำลาย)

แม้จะมีผู้ค้านว่ากรดไขมันทั้งหลายก็มีความสามารถป้องกันการเจริญของเชื้อจุลชีพ แต่การที่เป็น MCT และมากด้วยกรดลอริค ก็น่าจะเป็นข้อแตกต่างที่เป็นนัยสำคัญ โดยมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ เช่น :-

– ฆ่าแบคทีเรีย ที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะ (H.pylori) โรคลำไส้อักเสบ (Crohn’s – ท้องเสีย ปวดท้อง มีแผลพุพอง อุจจาระปนเลือด) โรคไซนัส, ทางเดินปัสสาวะ, ฟันผุ, ปอดบวม, หนองใน

– ฆ่าเชื้อรา ที่ก่อโรคกลาก ฮ่องกงฟุต

– ฆ่าเชื้อ ยีสต์ ที่ก่ออาการตกขาวในช่องคลอด ที่ชื่อ Candida albicans

– ฆ่าเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่, คางทูม, เริม, งูสวัด หวัดนก hepatitis และแม้กระทั่ง HIV (เอดส์) ใช้ทั้งกินและทา แต่ไม่ฆ่าเชื้อที่เป็นประโยชน์ เช่น E.coli หรือ Salmonella enteritidis อีกทั้งไม่มีการดื้อยา และไม่เป็นพิษต่อร่างกาย

– ในตำราแพทย์แผนไทย ก็มีการนำน้ำมันมะพร้าวใช้ประโยชน์ทางยา คือ รักษาแผลเรื้อรัง, แผลเป็น, เกลื้อน, แก้ปวดฟัน, น้ำกัดเท้า, อ่อนเพลียเรื้อรัง

10. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นเชื้อไวรัสชนิดที่มีผนังโครงสร้างเป็นไขมันเช่นเดียวกับ ไวรัสเอดส์(HIV), เริม, งูสวัด(Herpes) ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis) การที่มีผนังเซลล์เป็นไขมัน ทำให้แทรกซึมเจริญเข้าฝังตัวในเนื้อเยื่อของร่างกายได้ง่าย ยาปฏิชีวนะ สารเคมีทั้งหลายทำอะไรไม่ได้

แต่น้ำมันมะพร้าว อันมีกรดลอริคเป็นส่วนใหญ่ สลายให้โมโนลอริน แทรกซึมเข้ากับไขมันของผนังไวรัส ทำให้เสียโครงสร้าง ถูกทำลายได้

กรดลอริคยังส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นบำรุงเม็ดเลือดขาวอีกด้วย

จึงนอกจากฆ่าไวรัส ด้วยความเป็นไขมันพิเศษ (กรดลอริค) ของน้ำมันมะพร้าวแล้ว มันยังทำให้เม็ดเลือดขาวภูมิคุ้มกันแข็งแรง และเหลือพอไปต่อสู้กับเชื้อโรคอื่นๆ อีกด้วย

ในช่วงเวลาที่ไข้หวัด 2009 ลุกลาม การดื่มน้ำมันมะพร้าววันละ 2 – 4 ช้อนโต๊ะ จึงเป็นการเสริม เพิ่มพลังในการต่อสู้ ป้องกันโรคนี้ แต่หากติดเชื้อจนเริ่มเกิดอาการแล้ว ฟ้าทะลายโจรควรเป็นตัวหลัก

แต่หากสายเกินไปจนเข้าสู่ปอดอักเสบติดเชื้อแล้ว ต้องรีบพบแพทย์ใช้ยาต้านไวรัสเฉพาะ

การใช้น้ำมันมะพร้าวจึงสะดวก ปลอดภัย และคุ้มค่า ดูเหมือนดีกว่าฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ด้วยซ้ำ

แล้วเด็กบริโภคได้ไหม ?…ได้…ขนาดที่แนะนำ คือ 0.30 – 1 กรัม/กก.น้ำหนักตัว

ขนาดบริโภควันละไม่เกิน 4 ช้อนโต๊ะ ไม่ทำให้อ้วน อีกทั้งเพิ่มอัตราเผาผลาญต่อต้านความอ้วนอีกด้วย

11. ยังพบว่าน้ำมันมะพร้าวใช้ทาแก้คัน แก้แพ้ที่ไม่พบสาเหตุ หรือเหตุจากสารพิษคั่งค้าง ได้อย่างปลอดภัย โดยทาได้บ่อยๆ จนกว่าสารพิษตกค้าง จะหลุดหรือหมดไป เช่น กรณีบวมคั่งโซเดียม จากการประคบหรือให้น้ำเกลือมากเกินไป

12. มีการทดลองให้ MCT ในทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมีผลการดูดซึมแคลเซียมและแมกนีเซียมต่ำ MCT ช่วยให้การดูดซึมไขมันเพิ่มขึ้น แม้แต่ภาวะท้องเดิน MCT ก็เป็นไขมันที่ดูดซึมได้ดีกว่าไขมันสายโมเลกุลยาว

13. คนที่ขาดน้ำย่อยตับอ่อน ทำให้ดูดซึมไขมันได้ไม่ดี แต่ดูดซึม MCT ได้

14. มะเร็ง มีการทดลองใช้ MCT ในสัตว์ทดลองที่เป็นมะเร็ง พบว่าขนาดก้อนมะเร็งลดลง ผลงานทดลองพบว่า น้ำมันมะพร้าวล้วนๆ มีผลชะงักการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ ดีกว่าน้ำมันไม่อิ่มตัว เช่นน้ำมันข้าวโพด

ส่วนน้ำมันมะกอกก็ให้ผลต้านมะเร็งดีเท่าน้ำมันมะพร้าว แต่ก็ยังพบได้ในสัตว์ทดลองที่มีลำไส้เล็กว่าเกิดเนื้องอก 7% ในขณะที่ไม่พบการเกิดมะเร็งชนิดนี้ในกลุ่มที่เลี้ยงด้วยน้ำมันมะพร้าว

ยังพบว่าน้ำมันมะพร้าวรักษามะเร็งเม็ดสีผิวหนัง (Melanoma) ให้ทุเลา

อีกทั้งมีรายงานถึงผลต้านมะเร็งเต้านมอีกด้วย

15. เสริมความงาม แม้จะมีวิตามินอีชนิด Tocopherol น้อยกว่าน้ำมันพืชอื่น แต่กลับมีวิตามินอี ชนิด Tocotrienol ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า Tocopherol (ที่ใช้ในเครื่องสำอาง หรือพบในน้ำมันพืชอื่น) ถึง 40 – 60 เท่า แม้จะน้อยกว่าน้ำมันปาล์ม (ชนิด Palm kernel oil ไม่ใช่ Palm olein ที่ขายในท้องตลาด) และน้ำมันวีทเจิร์ม แต่ก็น่าจะช่วยลดฝ้า กระ ผิวไม่แตกแห้ง ต้านการเหี่ยวย่นได้พอสมควร

– มีสารปฏิชีวนะฆ่าเชื้อรังแค หนังศีรษะไม่เหี่ยวแห้ง

– เส้นผมมีสุขภาพ ดกดำเงางาม เพียงชโลมเส้นผมด้วยน้ำมันมะพร้าว แล้วใช้มือนวดคลึงเส้นผมให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ หรือล้างออกก็ได้ ถ้าอยากหมักผม เมื่อชโลมผมด้วยน้ำมันมะพร้าว แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นโพกศีรษะไว้ 30 นาที แล้วจึงสระออก หรือใช้หมวกคลุมผมอาบน้ำ คลุมไว้แล้วเข้านอน ตื่นเช้าค่อยสระออกก็ได้

16. ขจัดคราบฟัน ยังมีผู้แนะนำให้ทดลอง อมน้ำมันมะพร้าวชนิดบริสุทธิ์หีบเย็น กลั้วปากและฟันเป็นเวลา 5 – 10 นาที หลังดื่มกาแฟหรือมื้ออาหาร ช่วยขจัดคราบดำที่เกาะติดฟัน ช่วยให้ฟันขาวเงางาม (แต่หากเคลือบสนิท ติดทนนานมาแล้วก็คงมิได้ผล)

บางตำรายังกล่าวว่าเป็นการล้างพิษ (Detox) ผ่านเยื่อบุอ่อนของช่องปากได้อีกด้วย ! (pulling effect)

…อันนี้เป็นข้อมูลเฉพาะตัว ยังไม่เห็นผลงานวิจัยรับรองที่ลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์…แต่ก็ลองได้ไม่เสียหลาย! ส่วนปากเปื่อย ปากเป็นแผล ให้อมน้ำมันมะพร้าว นั้นได้ผลดีอยู่แล้ว

17. ดับกลิ่นตัว มีผู้ทดลองใช้น้ำมันมะพร้าวทาบริเวณรักแร้ ปรากฏว่ากลิ่นอับชื้น กลิ่นตัวหาย เหลือเพียงกลิ่นหอมอ่อนๆ ของน้ำมันมะพร้าว ก็อธิบายด้วยฤทธิ์ของกรดลอริคที่ฆ่าเชื้อโรคอีกนั่นแหละ อีกทั้งวิตามินอีธรรมชาติที่มีในน้ำมะพร้าว ยังบำรุงผิวอีกด้วย

ทำไมต้อง “หีบเย็น” หีบเย็นหมายถึงการบีบไม่ถึงกับคั้น โดยไม่ผ่านความร้อน ไม่เติมสารเคมี เหตุเพราะน้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยกรดไขมันอิ่มตัวอยู่ 95% ก็จริง แต่ก็ยังมีอีก 5% ที่เป็นไม่อิ่มตัว เช่น กรดโอเลอิค ลินโนเลอิค ซึ่งถ้าใช้ความร้อนสูงก็อาจถูกเติมออกซิเจน หรือไฮโดรเจนบิดตัวเป็นทรานส์ได้ เช่นเดียวกับน้ำมันพืชทั่วไป เพียงแต่ปริมาณน้อย โอกาสเกิดจึงน้อย ดังนั้นการผลิตออกมาโดยไม่ผ่านความร้อนจึงประกันคุณภาพและความปลอดภัยเบื้องต้น

 

* สรุปข้อดีเด่นของน้ำมันมะพร้าว

  1. เหมาะใช้ปรุงอาหารโดยเฉพาะชนิดปรุงร้อน ทอด ผัด เมื่อต้องเลือกระหว่างน้ำมันพืชทั่วไป ในแง่ไม่เกิดไขมันทรานส์
  2. MCT ให้นัยยะในการสร้างผนังเซลล์และคอเลสเตอรอลที่ดี ดีกว่าน้ำมันพืชชนิดไม่อิ่มตัวสายโมเลกุลยาวทั้งหลาย ถ้าเซลล์ดีผิวก็งามได้ อวัยวะที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้น เป็นพื้นฐานที่สำคัญของสุขภาพ
  3. MCT ในน้ำมันมะพร้าวให้พลังงานรวดเร็วกว่าน้ำมันที่สายโมเลกุลยาวทั้งหลาย ดูดซึมเร็วกว่า ดีกว่า มีผลให้ความอยากอาหารลดลง ใช้เป็นแหล่งอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดดื้ออินซูลิน ผู้พักฟื้น ตลอดจนบุคคลทั่วไปก็ใช้ดี
  4. กรดลอริคที่มีสูงอย่างมีนัยสำคัญในน้ำมันมะพร้าว มีผลต่อการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคสูงกว่าไขมันทั่วไป ใช้รักษาแผลเรื้อรัง น้ำกัดเท้า ตกขาวในช่องคลอด โรคกระเพาะ ตลอดจนไข้หวัดใหญ่ 2009
  5. การที่ไม่เหม็นหืนง่าย มีวิตามินอีชนิด tocotrienol มีสารปฏิชีวนะฆ่าเชื้อ เหมาะแก่การใช้ใส่ผม ช่วยให้ดูดกดำ ฆ่าเชื้อรังแค แก้คันศีรษะ ช่วยการหายของบาดแผล ดับกลิ่นกาย
  6. ใช้ 1 ช้อนโต๊ะกลั้วปาก ขจัดคราบติดฟันหลังอาหารและกาแฟ
  7. ยามไฟดับฉุกเฉินนำมาจุดตะเกียงก็ยังได้ !

ล่าสุด พบความมหัศจรรย์ของน้ำมันมะพร้าว แก้โรคสมองเสื่อมมัลไซเมอร์ พาร์กินสัน อีกทั้งเป็นความหวังอันยิ่งยวดของผู้ป่วยอัมพาต อัมพฤกษ์ ตลอดจนโรคเกี่ยวกับเซลล์ประสาท (มีกล่าวในการแพทย์บูรณาการเล่ม 2)

 

ข้อพึงระวัง คือ น้ำมันมะพร้าวที่จะนำมาใช้ต้องบริสุทธิ์และเตรียมโดยไม่ผ่านความร้อน คือ เป็นแบบหีบเย็น (cold pressed virgin coconut oil–VCO) เท่านั้น…

ข้อดีที่ชัดเจนคือ ไม่เหม็นหืน อายุการใช้อยู่ได้นานกว่าน้ำมันพืชอื่นใด

น้ำมันมะพร้าวจะเป็นไขที่ 25°C แต่ยังใช้ได้ ไม่เสื่อมสภาพ อุ่นก็ละลาย

EasyCookieInfo