ตะกร้าสินค้า

ไม่พบสินค้าในรถเข็น

อาหารต้านโรค

น้ำมันปลา

ให้เรตสมาชิก: 0 / 5

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

น้ำมันปลาเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากลุ่มวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ เพราะมีสารสำคัญ คือ โอเมก้า3 จากปลา อันเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวจำเป็น ที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ และขาดไม่ได้ ต้องหาจากอาหารภายนอก ซึ่งอาหารหลักก็คือ ปลา โดยเฉพาะหัวปลา พุงปลา ซึ่งหากหารับประทานไม่ได้ทุกวัน ก็อาจทดแทนด้วย “น้ำมันปลา”

ที่มาของความสำคัญของน้ำมันปลา เริ่มจากสังเกต พบว่า คนญี่ปุ่นและเอสกิโม แม้จะอ้วนท้วนพอๆ กับคนอ้วนของยุโรป อเมริกา แต่กลับไม่พบการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเท่าไหร่

ในขณะที่คนเอสกิโม ยังมีอัตราตายจากหลอดเลือดไหลไม่หยุด มากกว่าคนญี่ปุ่น

เมื่อตรวจการแข็งตัวของเลือด พบว่า เกิดช้า (แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่พอดี) กว่าชาวอเมริกัน และยุโรป โดยเฉพาะการเกิดลิ่มเลือดจับเป็นก้อน แทบจะไม่มี ผนังหลอดเลือดค่อนข้างสะอาด อ่อนนุ่ม กว่าคนอเมริกันหรือยุโรปชัดเจน

จึงเป็นที่มาของงานวิจัย หาปัจจัยเกี่ยวข้อง แล้วก็ไปลงที่อาหารปลา ซึ่งแตกต่างกันชัดเจนใน 2 กลุ่มนี้ (เอสกิโม + ญี่ปุ่น กับยุโรป + อเมริกัน)

จึงพบคุณสมบัติเด่นของน้ำมันปลามากหลาย ในเรื่องที่ช่วยให้หลอดเลือดสะอาดแข็งแรง เกล็ดเลือดไม่จับตัวเป็นกลุ่มเหนียวเกินไป

ส่วนการที่ชาวเอสกิโมตายจากเลือดออก มากกว่าชาวญี่ปุ่น ก็น่าจะเป็นเพราะ การได้รับมากเกินอัตรา ซ้ำยังได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากพืช ผัก ผลไม้ น้อยกว่าคนญี่ปุ่น เป็นเหตุให้เลือดหยุดไหลยาก และผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรงเท่า

ยังมีประวัติย้อนอดีตไปอีกว่า มนุษย์ยุคแรกที่พัฒนาสมองได้ดีกว่าสัตว์พันธุ์อื่นๆ เนื่องจากบังเอิญไปอาศัยริมแหล่งน้ำทะเลสาบ หรือชายฝั่งทะเล เลยยังชีพด้วยปลาและหอยเป็นอาหารหลัก (หรืออาหารเสริม)

อันหอยแลปลาน้ำลึกนั้นกินสาหร่ายและแพลงค์ตอนเป็นอาหาร

สาหร่ายนั้นอุดมไปด้วยโอเมก้า3

จึงเป็นผลตกทอดโอเมก้า3 จากสาหร่ายสู่หอย +ปลา สู่คน

ต่อมาเราพิสูจน์ได้ว่า โอเมก้า3 – DHA มีบทบาทสำคัญ ต่อการเจริญเติบโตของเดนไดร์ท (Dendrite) หรือเซลล์ประสาท ทำให้สมองพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนลิง และสัตว์บกที่กินแต่พืช ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ด้วยกันนั้น หาโอเมก้า3 ชนิดสายโซ่ยาว (EPA หรือ DHA) จากอาหารประจำวันมิได้เลย สมองจึงขาดการพัฒนาต่อเนื่อง

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกรดไขมัน น้ำมันที่ใช้ทอดอาหารแบ่งได้ 2 ชนิด ตามความอิ่มตัวของคาร์บอนในโมเลกุล คือ

1. กรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fatty acid) เป็นโครงสร้างโมเลกุลที่ทุกตำแหน่งของอะตอมในสายอิ่มตัวแล้ว ทำให้อะตอมของธาตุอื่นแทรกตัวไม่ได้ จึงไม่เกิด oxidation หรือการเหม็นหืน ตัวอย่างของกลุ่มนี้เช่น น้ำมันหมู, น้ำมันมะพร้าว, น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมูนั้นมีข้อเสียคือ เป็นกรดไขมันอิ่มตัวชนิดสายโมเลกุลยาว ไม่เหมาะแก่การสร้างผนังเซลล์หรือเยื่อบุผิวของเนื้อเยื่อ (น้ำมันมะพร้าว + น้ำมันปาล์ม เคยถูกโจมตีว่าเป็นต้นเหตุของคอเลสเตอรอลสูง ต่อมาจึงมีงานวิจัยว่า กะทิและน้ำมันปาล์ม (เฉพาะ Palm kernel oil) เป็นไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลปานกลาง (Saturated Medium Chain Triglyceride) ไม่ต้องอาศัยขบวนการเติมไฮโดรเจน จึงไม่มีไขมันทรานส์ (trans fatty acid) ไม่มีอันตราย ทั้งยังมีวิตามินอีธรรมชาติผสมอยู่ด้วย โดยไตรกลีเซอไรด์ ที่มีนั้นเป็นชนิดที่ถูกดูดซึมเข้าสู่ตับโดยตรง ทำให้ถูกใช้หมดโดยเร็ว ไม่เกิดการสะสมเป็นไขมัน หรือเกิดอ้วน อีกทั้งเป็นตัวเพิ่มอัตราเผาผลาญอีกต่างหาก กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ผสมอยู่ ก็มีสัดส่วนคล้ายเนื้อเยื่อของร่างกายคน)

2. กรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) เช่น น้ำมันปลา น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง กลุ่มไม่อิ่มตัวนี้ ยังแยกได้อีกมากมายหลายแบบ ตามตำแหน่งคาร์บอนอะตอมที่มีภาวะไม่อิ่มตัว (ไม่มี H มาจับ C–atom, แสดงสูตรโครงสร้างเป็นแขนคู่) ว่า “โอเมก้า…” (นัมเบอร์นั้นๆ)

นัมเบอร์เป็นเท่าไรนั้น ใช้วิธีนับเรียงเลข 1, 2, 3...จากโอเมก้าคาร์บอน

โดยกำหนดเรียกคาร์บอนอะตอมที่อยู่ปลายสายท้ายสุดว่า “โอเมก้าคาร์บอน” หรือ โอเมก้า C และกำหนดเรียกอีกปลายที่เป็น –COOH (คาร์บอกซีล กรุ๊ป) ให้เป็นส่วนหัวของสายโซ่นั้น

เช่น คาร์บอนแขนคู่อยู่ตำแหน่งที่ 3 จากปลายสาย เรียก โอเมก้า3 (n3), ถ้าคาร์บอนที่มีแขนคู่อยู่ตำแหน่งที่ 6 จากปลายสายก็เรียก โอเมก้า6 (n6)

แต่ละโอเมก้านัมเบอร์ที่จัดไว้ยังแตกต่างกันได้ที่จำนวนคาร์บอนอะตอมในสายโซ่ และตำแหน่งว่างของไฮโดรเจนอื่นๆ ในสาย เช่น

2.1 n3 (โอเมก้า3) อาจมีรูปแบบเป็น :-

2.1.1 ALA (Alpha – Linolenic Acid =18:3n-3) ได้จากพืช เช่น เมล็ดป่านลินิน เมล็ดมัสตาร์ด เมล็ดปอ flaxseed มีคาร์บอนในสายเพียง 18 อะตอม (เป็น n3 จากพืช)

2.1.2 EPA (Eicosapentaenoic Acid = 20:5n-3) มีคาร์บอนในสาย 20 อะตอม พบในน้ำมันปลา

2.1.3 DHA (Docosahexaenoic Acid 22:6n-3) มี 22 คาร์บอนอะตอมอยู่ในสาย…มีในน้ำมันปลา

2.2 n6 (โอเมก้า6) เช่น

2.2.1 LA (Linoleic Acid = 18:2n-6) ได้จาก น้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง

2.2.2 AA (Arachidonic Acid = 20:4n-6) ได้จากสัตว์

2.2.3 GLA (Gamma Linolenic Acid = 18:3 n-6) ได้จากพืช เช่น น้ำมันพริมโรส น้ำมันบอเรจ

2.3 n9 (โอเมก้า 9) เช่น OA–Oleic Acid เป็นต้น

น้ำมันปลาในท้องตลาดทั่วไปจะมี EPA+DHA รวมกันประมาณ 25 – 30% ของแคปซูล (ที่เหลือเป็นไขมันอิ่มตัว กับสารต้านอนุมูลอิสระที่ปกป้องน้ำมันปลาแปรสภาพ)

 

บทบาทของแต่ละสารสำคัญ

1. ทั้ง n3 n6 และ n9 ใช้คุณสมบัติของกรดไขมันไม่อิ่มตัว ไปช่วยลด TG (Triglyceride) และ LDL (คอเลสเตอรอลเลว) โดยแปลงคอเลสเตอรอล ให้เป็นคอเลสเตอรอลเอสเตอร์ ซึ่งล่องลอยไปตามกระแสเลือดได้ เพื่อพาไปย่อยสลายที่ตับ ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดแข็งตีบตัน ความดันโลหิตสูง

n3 – EPA ยังช่วยสร้าง พรอสตะแกลนดิน (prostaglandin) ชนิดที่ทำให้เกล็ดเลือดไม่เกาะกัน ทำให้เลือดไหลเวียนได้คล่อง

2. n3 สร้างพรอสตะแกลนดิน ต้านอักเสบที่เกิด จาก n6 ซึ่ง n6–LA เป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาภูมิคุ้มกัน ก่อให้เกิดการอักเสบขึ้น อันจำเป็นต่อภูมิต้านทานปกติ แต่หากมี LA มากไป ย่อมก่อให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบรุนแรงของเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะบริเวณข้อ

ทั้ง EPA และDHA จะถูกเปลี่ยนเป็นสารคล้ายฮอร์โมนที่เรียก พรอสตะแกลนดิน III ซึ่งมีหน้าที่ลดขบวนการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย ประโยชน์ในการรักษาโรค เช่น ภาวะเสียความสามารถในการเรียนรู้ และภาวะอยู่ไม่นิ่งในเด็ก, ลดไตรกลีเซอไรด์, สะเก็ดเงิน, รูมาตอยด์ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ใช้หลักการลดกระบวนการอักเสบ

3. n3 เป็นตัวที่ใช้สร้างผนังเซลล์ต่างๆ ช่วยบำรุงโครงสร้างของเซลล์ เสริมความยืดหยุ่นของผนัง หรือเยื่อหุ้มเซลล์ ทำให้สารอาหารซึมผ่านผนัง สู่เซลล์ได้ดี นำไปสู่ความสมบูรณ์ สวยงามแห่งเซลล์ (ผิวดีมีเลือดฝาด) แต่หากขาดกรดไขมันไป ผลก็คือ “Eczema” (มีการอักเสบเป็นแผลพุพองสะเก็ดหนองของผิวหนัง) เป็นอาการกำเริบของโรคสะเก็ดเงิน

อัตราที่พอเหมาะ คือ n3 : n6 = 1:4 จะทำให้มีการอักเสบต้านทานเชื้อโรค โดยไม่บวมมาก แต่เรามักได้ n6 จากน้ำมันพืชมากเกินพอ จนอัตรา n3:n6 เป็น 1:20 ทำให้เกิดการอักเสบไม่หาย การลดบริโภค n6 นั้นทำยาก จึงต้องเพิ่ม n3 จากการบริโภคปลาหรือ น้ำมันปลาส่วน EPO (น้ำมัน evening primrose) อุดมด้วยn6 ชื่อกรดไลโนเลอิค ถูกย่อยแล้วจะแตกตัว ให้สารชื่อ กรดแกมมาไลโนเลนิก (GLA) โดยใช้เอนไซม์ ชื่อ Delta–6–desaturase แล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นสารคล้ายฮอร์โมนประเภทที่ 1 (PEG1) ซึ่งมีหน้าที่ลดกระบวนการอักเสบในกระเพาะ ลำไส้ ประโยชน์ในการรักษาผิวหนังอักเสบออกผื่น อาการก่อนมีประจำเดือน แต่เมื่อเราได้ EPO ร่วมกับคาร์โบไฮเดรตปริมาณมากๆ ทำให้อินซูลินในเลือดเพิ่ม ส่งผลให้เอนไซม์ D6D เปลี่ยน GLA เป็นกรด Arachinodic ซึ่งเป็นสารอักเสบ ส่งผลให้เกิดกระบวนการอักเสบในร่างกายมากขึ้น

3.1 ผนังเซลล์ต่างๆ ที่ n3 ช่วยสร้าง(ผนังเซลล์ประกอบด้วยไขมัน) ได้แก่ endothelium – เยื่อบุภายในหลอดเลือด, ผนังเซลล์ของภูมิคุ้มกัน (immune&scavenger cell) และเซลล์เกล็ดเลือด(Platelet) n3ยังป้องกันผนังเซลล์จาก oxidative stress ปกป้องการสะสมของโฟมเซลล์ และการแตกตัวของคราบหลอดเลือดแข็ง (Plaque rupture) ด้วย

3.2 n3 – DHA ช่วยสร้างเดนไดรท์ (dendrite) อันเป็นโครงสร้างสำคัญของสมอง ทำให้สมองพัฒนา นำไปสู่การรับรู้ จำได้ ฉลาด จึงจัดเป็นสารบำรุงสมองที่ดี แต่ n3 จากพืช ร่างกายนำมาใช้แปลงเป็น EPA หรือ DHA เพื่อใช้ประโยชน์ต่อสมองได้น้อยมาก เนื่องจากสายโมเลกุล (จำนวน C–atom) สั้น n3 จากพืชจึงไม่สามารถทดแทน n3 จากปลาได้ดี หรือต้องใช้ปริมาณมากกว่า

4. ใช้ n3 สร้างผนังไมโตคอนเดรีย เป็นคุณสมบัติให้กลูโคสผ่านได้ดี เกี่ยวข้องกับภาวะดื้ออินซูลิน

5. n6 – LA เป็นตัวสร้างทั้งสารที่ลด และเพิ่มการเกาะตัวของเกล็ดเลือด หักล้างกันเอง เข้าสู่สมดุลของการจับตัวของเกล็ดเลือด

6. n3 ป้องกันหัวใจได้อย่างไร

การตายอย่างฉับพลัน ของหัวใจนั้นเกิดจากการแตกของคราบหรือพลักที่เกาะ ผนังหลอดเลือดอยู่ก่อน

เมื่อคราบแตกกระจายก็ไปขวางกั้นทางไหลของเลือด

เมื่อเลือดไหลผ่านได้ไม่สะดวก จะเกิดลิ่มเลือดตามมา ลิ่มเลือดที่เหนียวเกาะตัวกันแน่นก็ยิ่งอุดตันหลอดเลือดนั้นเต็มตัว ผลคือ หัวใจหรือสมองอวัยวะปลายทางขาดเลือด ยังผลให้เกิดภาวะต่อเนื่องตามมา เช่น หัวใจวาย สมองเกิด สโตร๊ก ลมปัจจุบัน

โอเมก้า3 เพียงเล็กน้อย จะช่วยป้องกันการแตกของคราบ อีกทั้งไม่เกิดการสร้างลิ่มเลือดอุดตัน

มีข้อสรุปเป็นประกาศของสมาคมหัวใจอเมริกัน (Am–Heart Ass. – AHA) เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2545 ว่า “กรดไขมันโอเมก้า3” ได้รับการศึกษาทางระบาดวิทยาและการทดสอบทางคลินิกแล้วว่า มีผลทำให้อุบัติการณ์ของโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง พบว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจะได้ผลดีจากการรับประทานกรดไขมัน โอเมก้า3 จากสัตว์น้ำหรือพืช

แม้ว่าการรับประทานปริมาณเท่าไร จะยังไม่สามารถกำหนดได้แน่ชัด แต่จากการศึกษาแนะนำว่า ควรได้กรด EPA + DHA เป็น 0.5–1.8 กรัม/วัน

สำหรับโอเมก้า3 จากพืช (ALA) ควรได้ประมาณ 1.5 – 3 กรัม/วัน โดยมีผลที่เป็นประโยชน์ คือ ทำให้ลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจหรือโรคอื่นๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

สรุปประโยชน์ของน้ำมันปลา

1. เป็นโครงสร้างผนังเซลล์ และไมโตคอนเดรียที่ดี…ลดอาการดื้ออินซูลินในเบาหวาน…ขวางการเกิดซีสต์ (Cyst) และมะเร็ง

2. n3 เป็นปัจจัยหลักแห่งการสร้างผนังที่อ่อนนุ่ม สวยงามของเซลล์ผิวหนัง เยื่อบุภายในหลอดเลือด, เซลล์ภูมิคุ้มกัน, เพลทเลท…ลดความข้นเหนียวของเลือด

3. เพิ่มการนำสารอาหาร และออกซิเจนผ่านผนังเซลล์ ทำให้เซลล์สุขภาพสมบูรณ์ อ่อนนุ่ม ลดกระ ฝ้า ได้ผิวที่สวยใส ก่อเกิดความงามของเซลล์ทั่วไป ความงามของผิวพรรณ ปรากฏผลลัพธ์รวม คือ “ผิวดีมีเลือดฝาด”

4. การที่เลือดไหลเวียนดี ช่วยลดอาการมือเท้าเย็นในกลุ่มอาการเรโนด์ (Raynaud’s syndrome) ทำให้อุ่นขึ้น

5. ลดอาการของโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) รักษาอาการ Eczema หรือกลุ่มอาการแผลพุพอง หนอง สะเก็ดเหลือง

6. ลดคอเลสเตอรอลเลว (LDL) และไขมัน (TG) เพิ่มคอเลสเตอรอลดี (HDL) ทำให้หลอดเลือดสะอาด ผนังยืดหยุ่นแข็งแรง ปกป้องอักเสบ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแข็งตีบตัน อันเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด

7. ลดความรุนแรงของ โรคเยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่ (Endometriosis–chocolate cyst)

8. ช่วยให้ผนังของเซลล์ต่างๆ แข็งแรง ปกป้องการแตกของหลอดเลือด (stroke–CVA) เพิ่มภูมิต้านทานของเม็ดเลือดขาว เซลล์เกล็ดเลือดกระจายตัวด้วยดี ไม่เกิดการจับตัว หรือลิ่มเลือดอุดตัน

9. บรรเทาอาการริดสีดวงทวาร

10. ควบคุมความดันโลหิต (ต้องใช้ n3 ขนาดสูง)

11. n3 ใช้เพิ่มอัตราส่วน n3 : n6 ให้เข้าสู่เกณฑ์ 1:4 แก้ไขอาการอักเสบต่างๆ ของข้อและเนื้อเยื่อ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ข้ออักเสบเรื้อรัง

12. DHA ช่วยบำรุงสมอง ทำให้รับรู้ จดจำแม่น ฉลาดในเด็ก

13. ส่วนผู้ชราก็ช่วยบรรเทาอาการสมองเสื่อม (Alzeimer) จากการที่เลือดไหลเวียนคล่อง ซึมผ่านเซลล์และปลายประสาทแข็งแรงขึ้น

14. ลดอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ในผู้ขาดน้ำมันปลา

15. ลดอาการปวดท้องเมนส์

จะเห็นว่า n3 ที่ใช้บำรุงสมองและป้องกันโรคหัวใจหลอดเลือดได้ดี คือ EPA + DHA จากปลาเท่านั้น n3 จากพืชใช้ทดแทนได้ไม่เพียงพอ ชาวมังสวิรัติ จึงต้องเสริมน้ำมันปลา

บุคคลทั่วไป ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ เฒ่าชแรแก่ชราก็ขาดปลาหรือน้ำมันปลามิได้ !

 

ขนาดรับประทาน ที่อย.กำหนดไว้ คือ ผู้ใหญ่ 3 กรัม/วัน (น้ำมันปลาเกรดอาหารนั้น บรรจุแคปซูลละ 1 กรัม หรือ 1000 มก.) ซึ่งมี EPA + DHA เทียบเท่ากรดยา 500 มก.

1. ขนาดปกติ 3 แคปซูล/วัน (1x3) ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ไม่เกิดลิ่มเลือดอุดตัน (Venous thrombosis) ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยให้ผิวงามสดใส

(ขนาดที่อันตราย จนเลือดไหลไม่หยุดน่าจะเป็น 100 – 1000 เท่าของ RDA หรือได้รับร่วมกับสารละลายเกล็ดเลือดอื่น เช่น วาร์ฟาริน, เฮปปาริน, แอสไพริน, ไอบูโปรเฟน, วิตามินอี, อีพีโอ, แปะก๊วย)

2. ขนาดที่บำรุงสมอง คือ 1 – 3 แคปซูล/วัน ในผู้ใหญ่ และ ครึ่ง – 1 แคปซูล/วัน ในเด็ก

3. กรณีข้ออักเสบให้ใช้ 3 – 7 แคปซูล/วัน

 

น้ำมันปลามิใช่น้ำมันตับปลา น้ำมันตับปลาก็มีกรดไขมัน EPA และ DHA อยู่ แต่เข้มข้นไม่มากเท่าในน้ำมันปลา แล้วยังมีวิตามินเอและดีร่วมด้วย วิตามินทั้งสองนี้ละลายในน้ำมัน จะสะสมในร่างกายได้ง่าย ขับถ่ายออกไปยาก ในน้ำมันปลามักมีวิตามินอี เป็น antioxidant ควบติดมาด้วย เพื่อป้องกันสารต้านอนุมูลอิสระที่ไม่พึงประสงค์

พิษสะสมทำให้พบความผิดปกติของทารก ในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับน้ำมันตับปลามากและเป็นเวลานาน

น้ำมันตับปลาจึงเหมาะแก่ผู้ขาดวิตามินเอ โดยใช้เป็นการชั่วคราว

 

ปัญหาของการกินปลาทะเล เป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า สัตว์ทะเลที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง ได้รับสารพิษ เช่น โลหะหนัก ดีดีทีจากมลพิษของน้ำเสีย จากโรงงานอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และครัวเรือน

ปลาที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง ก็หนีไม่พ้นปัญหานี้

ปลาน้ำจืดบางชนิดที่พอมีน้ำมันปลา เมื่อเลี้ยงด้วยระบบเทคโนโลยีการเกษตร ก็ต้องได้รับสารเคมี ที่ใส่เพื่อฆ่าเชื้อโรค และฮอร์โมนเร่งการเติบโต

FDA สหรัฐ เตือนหญิงตั้งครรภ์ ผู้กำลังให้นมบุตร หรือมีโอกาสตั้งครรภ์ ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคปลาทะเล 4 ชนิด คือ ปลาฉลาม (โดยเฉพาะหูฉลามหรือครีบปลาฉลาม) ปลาดาบ ปลาอินทรี (King Mackerel) และปลาไหล (Tilefish) เนื่องจากพบปรอทปนเปื้อนสูงในไขมัน อีกทั้งปลาตัวใหญ่ มีวงจรชีวิตยาว มีเวลาสะสมสารพิษได้มากและนาน พอที่จะสามารถทำลายสมองและระบบประสาท ซึ่งกำลังโตของทารกในครรภ์ หรือเด็กเล็กๆ ได้ง่ายมาก

ดังนั้นปลาทะเลที่เหมาะแก่การบริโภคก็น่าจะเป็นปลาทู เนื่องจากเป็นปลาเล็กวงจรชีวิตสั้น มีเวลาสะสมสารพิษได้ไม่นาน ในขณะที่มีโอเมก้า3 น้ำมันปลาครบถ้วน

ดังนั้นน้ำมันปลา ที่ทำจากปลาทะเล จึงมีระดับสารปนเปื้อนแตกต่างกันได้ จึงต้องเลือกที่ผลิตจากปลาทะเลน้ำลึก ห่างไกลชายฝั่งมาก แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ก็มีมลพิษไปถึงอยู่ดี เพียงแต่มากน้อยเท่านั้น

อย.จึงกำหนดมาตรฐานสิ่งปนเปื้อน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลา โดยยอมให้มีได้ในระดับหนึ่ง

 

* เหนือกว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร…น้ำมันปลาที่ผลิตได้มี 3 เกรด ตามระดับความบริสุทธิ์

ระดับที่ 1 คือ น้ำมันตับปลา (Cod Liver oil)

ระดับที่ 2 ผลิตเข้ามาตรฐานคุณภาพอาหาร

ระดับที่ 3 มีคุณภาพและสรรพคุณสูงสุดโดยใช้มาตรฐานยา (Pharmaceutical grade)

ราคาจึงมักแตกต่างกันด้วย เพราะมีต้นทุนการสกัดสารพิษ สิ่งปนเปื้อนออก

หลักวิธีแบ่งระดับน้ำมันปลา กำหนดจากความบริสุทธิ์ (Purity) อาทิ ปริมาณขั้นต่ำของสารตะกั่ว, แคดเมียม, ปรอท, ดีดีที (Dichloro Diphenyl Trichorethane) และสาร PCB (Poly Chlorinated Biphenyl) ฯลฯ

สารพิษจาก

สิ่งแวดล้อม / หน่วย

ปริมาณที่อนุญาตให้มีได้ไม่เกิน

ในเกรดอาหาร

ในเกรดยา

Dioxin…pg / g

1.5

1

PCB…mg / kg

0.09

0.01

Arsenic (As)…mg / kg

0.1

0.1

Cadmium Cd..mg / kg

0.1

0.01

Mercury (Hg)..mg / kg

0.1

0.005

Lead (Pb)…mg / kg

0.1

0.05

DDT…mg / kg

0.1

0.005

HCB…mg / kg

ไม่มีกำหนด

0.005

Benzopyrene..ng / g

ไม่มีกำหนด

0.1

Dioxinlike PCB.. pg / g

ไม่มีกำหนด

3.0

Dioxinlike + furane..pg / g

ไม่มีกำหนด

1

Dioxinlike +  furane + Dioxinlike… pg / g

ไม่มีกำหนด

4.0

DDD… mg / kg

ไม่มีกำหนด

0.005

ตามตารางจะเห็นความแตกต่างของเกรดอาหารกับยา โดยเกรดอาหารสามารถมีระดับสารปนเปื้อนได้สูงกว่าเกรดยาเกือบทุกรายการ สารปนเปื้อนที่พบใหม่ๆ ก็ยังไม่มีกำหนดปริมาณขั้นต่ำไว้

ในขณะที่น้ำมันปลาระดับคุณภาพยา มีกำหนดมาตรฐานไว้ละเอียด

ความเข้มข้นของโอเมก้า3 ในน้ำมันปลาระดับอาหาร มีผลรวมของ EPA กับ DHA เท่ากับ 30% เป็นส่วนใหญ่ แคปซูลจึงมักใหญ่ ขนาด 1000 มก.หรือ 1 กรัม ซึ่งเราใช้เรียกกำหนดขนาดยา (Dose) เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยมีสารพิษเจือปนอยู่บ้าง จึงไม่ควรกินเกิน 4 แคปซูลต่อวัน

ผลพลอยได้ จากเทคโนโลยีการผลิตในระดับยา นอกจากสกัดสารพิษปนเปื้อนออกแล้ว ยังได้กรดไขมันโอเมก้า3 ทั้ง EPA และ DHA เข้มข้นถึง 600 มก. ต่อกรัมน้ำมันปลา (ในขณะที่น้ำมันปลาระดับอาหารมี 300 มก./กรัม) ทำให้สามารถผลิตเป็นแคปซูลขนาดเล็กลงเท่าตัว คือ 500 มก. แต่มีโอเมก้า3 เท่ากับ ขนาด 1000 มก.ของเกรดอาหาร

ดังนั้นสูตรปริมาณการใช้เรียกขนาด (Dose) ที่กล่าวในเรื่องน้ำมันปลา 1000 มก. จึงเทียบเท่าน้ำมันปลาเกรดยา 500 มก.

จึงเป็นทางเลือกที่ดีแก่ผู้ที่กลืนยายากอีกด้วย

นอกจากนี้ น้ำมันปลาคุณภาพเกรดยา ยังมักผสมวิตามินอีไว้ด้วย เพื่อป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยใช้ขนาด 5 IU วิตามินอี ต่อ 1 กรัมน้ำมันปลา

 

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับน้ำมันปลา

มีรายงานชนิด Metaanalysis ที่นับจำนวนรายในการวิจัยได้กว่า 40,000 คน ยืนยันผลของน้ำมันปลา โอเมก้า3 ว่าได้ผลดี มีส่วนช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ลงตีพิมพ์ใน Journal of American College of cardiology online เมื่อ 3 ส.ค. 52 รายงานชี้ว่าไม่เพียงแต่คนปกติทั่วไป จะได้ผลดีจากการรับประทานเนื้อปลา หรือสารเสริมอาหารโอเมก้า3 คนไข้ที่เป็นโรคหัวใจไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) โรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) โรคหัวใจห้องบนเต้นพลิ้ว (Atrial fibrillation) หรือแม้แต่ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ก็ยังได้อานิสงส์ของการรับประทานสารดังกล่าวเป็นประจำอีกด้วย

 

แล้วเท่าไรจึงเหมาะสม…AHA (American Heart Association) กับ European Society of Cardiology และ WHO แนะนำให้กิน EPA / DHA อย่างน้อยวันละ 500 มก. หรือเทียบเท่ากับกินปลา 2 มื้อ / สัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจ ควรได้ EPA / DHA มากขึ้นเป็นวันละ 800 – 1000 มก. หรือใช้น้ำมันปลาทดแทนในวันที่ควรได้ทานปลา แต่ขาดไป !

น้ำมันปลาเกรดยา ซึ่งมีการสกัดซ้ำ จำกัดระดับสารพิษทั้งหลาย จึงเป็นทางเลือกที่ไม่ตระหนักไม่ได้กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นระเบิด จากแผ่นดินไหวเมื่อต้นปี 2554 นี้ เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีสู่ทะเล ตัวรับหนึ่งก็คือปลา แม้ว่าปลาส่วนใหญ่อยู่ประจำถิ่น แต่น้ำทะเลย่อมไหลไม่หยุดนิ่ง เสริมด้วยพลังสึนามิ, พายุ ทั้งหลาย ย่อมพัดพาทั้งน้ำและปลากระจัดกระจายไปทุกมุมโลก เป็นไปได้ว่าปลาที่เปื้อนกัมมันตรังสีส่วนหนึ่งย่อมถูกจับมาผลิตน้ำมันปลา

EasyCookieInfo