ตะกร้าสินค้า

ไม่พบสินค้าในรถเข็น

อาหารต้านโรค

โคคิวเทน

ให้เรตสมาชิก: 0 / 5

ดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งานดาวไม่ได้ใช้งาน
 

โคคิวเทน (CoQ10) คืออะไร ? โคเอนซัยม์คิวเทน (CoenzymeQ10) หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า โคคิวเทน (CoQ10) นั้น เป็นที่รู้จักกันในชื่ออื่นอีกหลายชื่อ เช่น ยูบิควิโนน (Ubiquinone) จัดเป็นสารจำพวกวิตามินหรือคล้ายวิตามิน ซึ่งมีในทุกเซลล์ของร่างกาย

โคคิวเทนถูกค้นพบในปี ค.ศ. 1957 ว่าเป็น โคเอนซัยม์ที่จำเป็นตัวหนึ่งในร่างกาย ทำหน้าที่เป็น ตัวร่วมจุดประกาย การเกิดปฏิกิริยาเคมี ที่สำคัญในกระบวนการสร้างพลังงาน ของไมโตคอนเดรียแห่งเซลล์ของกล้ามเนื้อ

ผู้วิจัยที่นำเสนอให้เข้าใจ ในบทบาทของโคคิวเทนได้รับรางวัล Nobel ในปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521)

 

โคคิวเทนสำคัญอย่างไร ?

โคคิวเทนไม่ได้ให้พลังงานโดยตรงแก่ร่างกาย แต่เป็นโคเอนซัยม์ที่จำเป็น ในการเริ่มปฏิกิริยาเคมี เพื่อสร้างพลังงาน จึงมีความสำคัญต่อกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องจากหัวใจต้องทำงานตลอดเวลา ไม่ว่ายามตื่นหรือหลับ จากการศึกษากว่า 25 ปีในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก พบว่าผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ที่ทำการศึกษา ล้วนมีภาวะขาดโคคิวเทนที่รุนแรง ซึ่งเมื่อได้รับโคคิวเทนปริมาณเพียงพอ ก็สามารถฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ อย่างได้ผล

ประมาณ 95% ของปฏิกิริยาพลังงานในร่างกาย ล้วนเกิดจากบทบาทของโคคิวเทน

จากกลไก/บทบาทในกล้ามเนื้อเรียบ ยังใช้ช่วยอธิบายในกรณีหายใจลำบาก หายใจแล้วเหนื่อย ว่าอาจมีภาวะขาดโคคิวเทนร่วมด้วย

คุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ของโคคิวเทน ทำให้วงการแพทย์นำโคคิวเทนมาใช้ในการร่วมรักษาโรคต่างๆ ที่มีสาเหตุมาจาก ระดับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายลดลง ได้แก่ โรคทาลัสซีเมีย และโรคเซลล์สมองเสื่อมต่างๆ เช่น โรคพาร์กินสัน เป็นต้น

โคคิวเทนยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยคงไว้ซึ่งผนังเซลล์

โคคิวเทนยังถูกจัดให้เป็น potent antioxidant ป้องกันการเกิดริ้วรอยอีกด้วย

 

บทบาทสำคัญของโคคิวเทน

มี 2 กลุ่ม

1.สร้างพลังงานในระดับเซลล์

โคคิวเทนเปรียบเสมือนหัวเทียนจุดประกายให้เริ่มต้นเครื่องยนต์เดินได้ โมเลกุลพลังงานนั้นชื่อ ATP เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาได้ ต่อไปเราอาจได้ยิน ATPase หรือ ATP Reductase ก็เปรียบเสมือนน้ำย่อย หรือ enzyme ในกระบวนการสร้างเซลล์พลังงาน ATP

ส่วนโคคิวเทน เป็นตัวจุดประกายให้ enzyme เริ่มเดินเครื่อง จึงเรียก Coenzyme

แต่ละเซลล์หัวใจจะพบไมโตคอนเดรียอยู่ 1,000–2,000 หน่วย เป็นตัวสร้างพลังงานให้หัวใจบีบตัวสม่ำเสมอ วันละกว่าแสนครั้ง หรือกว่า 36 ล้านครั้งในแต่ละปี คิดดูซี…ว่าโคคิวเทน นั้นจำเป็นและต้องใช้ปริมาณมากมายเพียงไร !

 

บทบาทกลุ่มที่ 2 คือ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ

โดยโคคิวเทนจะกระจายรายรอบผนังเซลล์เพราะเป็นสภาวะไขมัน ซึ่งโคคิวเทนละลายได้ดี โดยจะคอยปกป้องผนังเซลล์มิให้ถูกทำลายเสียหายจากอนุมูลอิสระหรือ Oxidative stress อันจะก่อให้เกิดโรคแห่งความเสื่อมทั้งหลาย

เมื่อคุ้มกันผนังเซลล์ได้ ก็คือปกป้องไมโตคอนเดรียและดีเอ็นเอได้ด้วย รหัสพันธุกรรมของเซลล์ก็ย่อมปลอดภัยจากการที่มีโคคิวเทนพอเพียง ไม่เสื่อม หรือแก่ตัวเร็ว หรือชรา หรือกลายเป็นมะเร็ง

ภาวะต้านอนุมูลอิสระที่เห็นชัดๆ อีกที่คือ ในผนังหลอดเลือดที่ว่าคอยปกป้อง LDL ที่เข้าสู่ชั้นในผนังหลอดเลือด เพื่อทำการสร้างเยื่อบุผิว โคคิวเทนหรือสารต้านทั้งหลาย จะคอยดักจับอนุมูลอิสระ หรือ oxidative stress มิให้ทำร้าย LDL

แล้วยังที่ผิว ไม่ว่า Langerhans cell หรือ Melanocyte, fibroblast ก็ไม่พลาดพลั้ง หากมี Antioxidant ปกป้องไว้

กลไกช่วยดูแลหลอดเลือดของโคคิวเทนทางหนึ่ง คือ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระไปปกป้องLDLไขมันเลว มิให้อนุมูลอิสระเข้าทำลาย หรือกระทบ ทำให้กลายเป็น LDLพิษ อันจะทำให้เกิดกระบวนการที่แมคโครเฟ็จต้องมากลืนกิน มากๆเข้าก็เสียศูนย์กลายเป็นโฟมเซลล์ จับอยู่ที่ผนังเกิดก้อนพลักอุดตันหลอดเลือด รอการตีบหรือแตกก่อความเสียหายใหญ่หลวง ขนาดน้องๆ ก็คือ เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด น้ำท่วมปอดจากหัวใจไม่ทำงาน กล้ามเนื้อหัวใจพิการ หัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

เมื่อขาดโคคิวเทนจะมีผลอย่างไร ?

ในกรณีกล้ามเนื้อหัวใจ หากขาดโคคิวเทนมากเกินขนาด จะส่งผลให้ปริมาณเซลล์ที่ไม่ทำงานมีมาก เมื่อถึงระดับหนึ่งย่อมไม่บีบตัวทำงาน เซลล์ที่เหลือย่อมปรับตัวโดยบีบให้ถี่ขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่มีแรงสูบฉีดเลือดส่งออกไปเลี้ยงอวัยวะ ได้เป็นชีพจรที่เร็วแต่เบา เราจะรู้สึกใจสั่น แต่อาจรู้สึกใจเต้นแรง ก็เพราะหัวใจบีบผิดจังหวะ หรือไม่ราบรื่นนั่นเอง อาจเกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เนื่องด้วยเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ และอาจรู้สึกชาที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า เพราะขาดเลือด อาการอ่อนเพลีย หายใจเหนื่อย ย่อมเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้การขาดโคคิวเทนยังทำให้เกิดริ้วรอย เนื่องจากเซลล์ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ชำรุดทรุดโทรมไป

 

เราจะสังเกตอาการขาดโคคิวเทนได้อย่างไร ?

นอกจากอาการใจสั่น หัวใจเต้นแรงผิดจังหวะแล้ว อาการอื่นที่พบบ่อยในภาวะขาดโคคิวเทนก็คือ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง วิงเวียนศีรษะ ชีพจรเร็ว หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ชาปลายมือ ปลายเท้า

 

ทำไมกินน้อยแล้วขาดโคคิวเทน ?

ร่างกายสร้างโคคิวเทนจากกรดอะมิโนชื่อ Tyrosine กระบวนการสร้างนี้ยังต้องอาศัยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดร่วมด้วย ดังนั้นหากขาดอาหาร ก็ย่อมขาดปัจจัยสร้าง จึงเกิดอาการพร่องโคคิวเทนได้

 

คุณประโยชน์ของโคคิวเทน ในแง่การรักษาโรค

1. โรคหัวใจ

จากผลการทดลอง ในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง โดยจัดให้ผู้ป่วยได้รับโคคิวเทนเพิ่มเติมในปริมาณ 100 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าระดับพลาสม่าโคคิวเทนสูงขึ้นถึง 3 เท่า ดัชนีวัดค่าความหนาผนังกล้ามเนื้อหัวใจ (systolic wall thickening score index) สูงขึ้นทั้งในส่วนของ rest and peak dobutamine stress echo โดยสูงขึ้น 12.1% และ 15.6% ตามลำดับ

2. โรคความดันโลหิตสูง

ในการศึกษาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดย Dr.Langsjoen ผู้ป่วยร้อยละ 51 มีอาการดีขึ้น มี Diastolic pump มากขึ้น จนหยุดยาลดความดันโลหิตได้ ภายใน 4 เดือนหลังการใช้โคคิวเทน โดยเป็นการช่วยลดความดันไดแอสโตลิค (ตัวล่าง) ซึ่งน่าจะอธิบาย กลไกได้ว่า เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจได้รับโคคิวเทนจนไม่เกิดอาการขาด คือ ทุกไมโตคอนเดรียของเซลล์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ การหดตัวของหัวใจห้องบน (Atrium) ย่อมดีขึ้นด้วย ทำให้หัวใจห้องขวาบน บีบเลือดลงสู่ห้องล่างได้มากขึ้น ส่งผลให้แรงดันในหลอดเลือดดำลดลง มีผลให้เลือดแดงซึมถ่ายเทผ่านเนื้อเยื่อได้สะดวกขึ้น เป็นการลดปริมาณเลือดในหลอดเลือดแดง ความดันในขณะหัวใจห้องล่างคลายตัว จึงลดลงด้วย

อีกคำอธิบายหนึ่งของกลไกลดความดันด้วยโคคิวเทน คือ อธิบายด้วย Acetyl choline กับอะดรีนาลิน (Adrenaline)

สองสิ่งที่กล่าว ออกฤทธิ์แรงแข็งขันพอๆ กัน คือ ทำให้ร่างกายมีพลังมหาศาลชั่ววูบ เช่น ออกแรงวิ่ง ยกของหนัก ผลักสิ่งกีดขวางได้เกินกำลังปกติ ซึ่งปัจจัยก่ออันหนึ่ง คือ จิตใจ หรืออารมณ์

ในยามอารมณ์สงบ จิตใจดี Acch หรือ Acetyl choline จะเป็นตัวหลั่งทำให้แรงดีกระปรี้กระเปร่า รับสิ่งเร้าอย่างสร้างสรรค์ ความดันไม่ขึ้น แต่ในยามรบ ไม่สบอารมณ์ หรือต๊กกะใจ อะดรีนาลิน (Adrenaline) ก็หลั่งเกิดพลังชั่ววูบ และเป็นวูบที่ความดันเลือดขึ้นมาด้วย

ทีนี้เราทราบว่าโคคิวเทน เป็นผู้ร่วมก่อสร้าง Acetylcholine จากสารตั้งต้น คือ โคลีน พอขาดโคคิวเทนก็พาดพิงไปถึงการขาด Acch ตัวควบคุมความดัน Adrenaline ก็เลยออกฤทธิ์โดด คือ ความดันขึ้น พอได้ปัจจัยต้านกลับมาก็ดีขึ้น

ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร ผลวิจัยที่รายงานไว้ คือ ใช้โคคิวเทนช่วยลดความดันเลือดตัวล่างได้อย่างมีนัยสำคัญ

อีกบทบาทของโคคิวเทนคือ ในฐานะ Antioxidant ช่วยลดพิษ ต้าน OS ที่จะมากระทำต่อ LDL เช่นเดียวกับ โอพีซี, กลูต้าไทโอน ในกรณีนี้ โอพีซี หรือโคคิวเทน มิได้เป็นตัวลดความดันเลือดโดยตรง แต่เป็นบทบาทปกป้องปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการตีบแข็งของหลอดเลือด เพราะภาวะที่หลอดเลือดตีบแข็ง = ไม่ยืดหยุ่น เป็นปัจจัยก่อความดันเลือดเพิ่มนั่นเอง

3. โรคทาลัสซีเมีย

สำหรับผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย ผลการทดลองของคณะแพทย์ศิริราช พบว่าการได้รับโคคิวเทนเพิ่มเติมในปริมาณ 100 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน จะช่วยลด oxidative stress ทำให้การต้านอนุมูลอิสระ ทำงานได้ดียิ่งขึ้น

4. เหงือกอักเสบ

ก็มีรายงานถึงผลตอบรับที่ดีต่อโคคิวเทน เนื่องจากหลอดเลือดที่เหงือกกับหัวใจ ต่อตรงถึงกันได้ ภาวะผิดปกติที่หัวใจจึงมาปรากฏที่เหงือกด้วย

5. ผลข้างเคียงจากยาลดไขมัน (statin)

นอกเหนือไปจากบทบาทในการรักษาโรคหัวใจแล้ว โคคิวเทนยังจำเป็นต่อผู้ที่ได้รับยาลดไขมัน หรือยาลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด เพราะยาลดไขมันมักหยุดยั้งกระบวนการสร้างโคคิวเทน ก่อเกิดภาวะขาดโคคิวเทนรุนแรง

ผู้ป่วยโรคหัวใจ ที่ได้รับการรักษาด้วยยาลดไขมัน (statin drug therapy) มักพบอาการข้างเคียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า (fatigue) ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (myalgia) หายใจติดขัด หายใจลำบาก (dyspnea) ความจำเสื่อม (memory loss) หรืออาการชา (peripheral neuropathy) แต่เมื่อได้รับโคคิวเทนเพิ่มเติม ในปริมาณ 240 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 12 – 22 เดือน พบว่าโคคิวเทนสามารถช่วยลดอาการข้างเคียงต่างๆ อย่างได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

  • จากเดิมที่พบว่ามีอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า 84% เหลือเพียง 16%
  • อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อลดจาก 64% เหลือเพียง 6%
  • อาการหายใจลำบาก ลดจาก 58% เหลือ 12%
  • ความจำเสื่อมลดจาก 8% เหลือ 4%
  • และอาการชาลดจาก 10% เหลือ 2%

นอกเหนือจากซึมเศร้าแล้ว เขาเพิ่งค้นพบโรคแทรกซ้อนจาก Statin ที่จำเป็นต้องกิน เพื่อลดไขมัน Cholesterol คือ โรคกล้ามเนื้อพิการ กล้ามเนื้อลีบ อ่อนระโหยโรยแรง ว่าเป็นเพราะขาดพลังงาน ATP…ก็โยงไปถึงที่มาของการพร่องพลังงาน ว่าเพราะขาดตัวร่วมสร้างจุดประกาย ซึ่งก็หมายถึงโคคิวเทน ก็เป็นที่พิสูจน์ทราบได้ คือ พอให้โคคิวเทนเสริม โรคนี้ก็หายไป แรงกายก็ดี จิตใจก็หายเศร้า แพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือดส่วนใหญ่จะรู้จักมักคุ้นกับโคคิวเทนเป็นอย่างดี

6. โรคที่เกิดจากเซลล์สมองเสื่อม เซลล์สมองก็มากด้วยไมโตคอนเดรีย เพราะต้องการพลังงานมาก เช่นเดียวกับหัวใจและตับ ที่ใดมากไมโตคอนเดรีย ก็จำเป็นต้องมีโคคิวเทนร่วม จุดประกายปริมาณมาก

อีกทั้งโคคิวเทน ยังเป็นตัวคอยต้านอนุมูลอิสระรอบๆ ผนังเซลล์ มิให้เข้าไปทำลายดีเอ็นเอ แน่นอนว่าหากขาดโคคิวเทน ไมโตคอนเดรียสูญเสียผู้ร่วมก่อสร้างพลังงาน สมองก็ทั้งล้าและเสียหาย มากๆ เข้ารวมตัวแสดงออกมาเป็นโรคสมองเสื่อม

การศึกษาพบว่าโคคิวเทนสามารถชะลอการเสื่อมของเซลล์สมอง ที่เกิดจาก oxidative stress โดยโคคิวเทนจะทำหน้าที่ stabilizing mitochondria membrane ด้วยเหตุนี้โคคิวเทนจึงเป็นทางเลือกของการรักษาโรคผู้ป่วยที่เกิดจากเซลล์สมองเสื่อม ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรค Friedreich's Ataxia

ในโรคพาร์กินสัน (Parkinson) มือสั่นเดินส่าย ซึ่งทางพยาธิวิทยาพบว่า เซลล์สมองเสื่อมแปรผันไปตลอดเวลา หากหยุดยั้ง กระบวนการเสื่อมไม่ได้ อาการโรคก็กำเริบลุกลามเลวลง โคคิวเทนซึ่งจำเป็นในกระบวนการทำงานของไมโตคอนเดรียแห่งเซลล์สมอง จึงเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งมีผลต่อต้านอาการเสื่อมของสมอง ในการประชุมสมาคมแพทย์ประสาทสหรัฐ เมื่อตุลาคม 2545 หรือ ค.ศ. 2002 มีมติให้ใช้โคคิวเทนเป็นอาหารเสริมสำหรับโรคพาร์กินสัน หากเป็นการรักษา เขาให้ใช้ขนาดสูงถึงวันละ 300 ถึง 1,200 มก. แบ่งเป็น 4 มื้อ ข้อที่ดีมากๆ คือ แทบไม่พบพิษอาการข้างเคียงใดๆ ในปี 2549 US–FDA ยินยอมให้ใช้โคคิวเทนเป็นยาป้องกันโรค Parkinson

7. เป็น Cellular burn ในการลดความอ้วนและต้านอนุมูลอิสระ

8. เป็น Antioxidant ช่วยให้ผิวสดใส…ชะลอชรา

9. ปี 2547 นักวิจัยจาก บ.Thomas Jefferson เมืองฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ รายงานผลการศึกษาว่า มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆว่าโรคไมเกรน อาจจะเกิดจากสาเหตุ ไมโตคอนเดรียในเซลล์สมองเสียหาย และพบว่าการให้โคคิวเทน อาจช่วยป้องกันโรคไมเกรนได้

 

ใครบ้างที่ควรได้รับโคคิวเทนเพิ่มเติม ?

ภาวะขาดโคคิวเทนอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลัก 3 ประการคือ 1. การได้รับปริมาณโคคิวเทนจากอาหารไม่เพียงพอ 2. ความบกพร่องของกลไกการสร้างโคคิวเทนในร่างกาย และ 3. ภาวะที่มีการใช้โคคิวเทนมากเกินปกติ เช่น การออกกำลังกายมากเกิน ภาวะช็อคหรือมีกระบวนการเผาผลาญพลังงาน มากผิดปกติ (hypermetabolism)

สำหรับบุคคลทั่วไป แม้ว่าร่างกายจะสร้างโคคิวเทนได้เอง แต่ความสามารถนี้จะลดลงเมื่ออายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ในขณะที่ปริมาณที่ร่างกายต้องการ กลับไม่ลดลง

พบว่า การสังเคราะห์โคคิวเทนในร่างกายต้องอาศัยวิตามินถึง 7 ตัวและแร่ธาตุอีกหลายรายการ

ผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ก็ได้หลักฐานสนับสนุน คุณประโยชน์ของโคคิวเทนในด้านต่างๆ โคคิวเทนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง จากวงการแพทย์ว่ามีบทบาทร่วมรักษาโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดในสมอง (stroke) โดยพบว่า เมื่อผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ได้รับโคคิวเทนอย่างต่อเนื่อง กล้ามเนื้อหัวใจที่ทรุดโทรม จะสามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติ และทำงานได้ดีขึ้น ภาวะหัวใจล้มเหลว เช่น อาการใจสั่น เหนื่อยล้า เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

โคคิวเทนปลอดภัยแค่ไหน มีผลข้างเคียงใดหรือไม่

พบว่าโคคิวเทนมีความปลอดภัยสูง ไม่พบผลข้างเคียงหรือกระทบผลของยาขนานอื่น แม้จะบริโภคถึงวันละ 3,000 มิลลิกรัมก็ตาม

 

ทำอย่างไร เราจึงจะได้รับโคคิวเทนในปริมาณที่เพียงพอ?

…เห็นได้ว่าโคคิวเทนเป็นสารอาหารจำเป็นที่ร่างกายต้องมีใช้ และใช้สิ้นเปลือง

โคคิวเทนมีมากในน้ำมันถั่วเหลือง ปลาทะเล เนื้อสัตว์ ถั่วลิสง และผักโขม เป็นต้น แต่ต้องได้รับปริมาณมากพอ จึงจะรักษาสมดุลการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย อีกทั้งความร้อนจากการปรุงหรือเก็บรักษาอาหาร ก็อาจทำให้สารนี้เสื่อมสลายไปได้

ในการรับประทานอาหารปกติของเรา จะได้โคคิวเทนประมาณ 3 – 5 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น ผู้ที่มีความต้องการมากกว่านี้ จึงต้องได้รับโคคิวเทนเสริม ขนาดที่แนะนำทั่วไปคือ 20 – 30 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนขนาดที่ใช้ป้องกันหรือเสริมการรักษาโรค อยู่ที่ 100 – 300 มิลลิกรัม ต่อวัน

เนื่องจากโคคิวเทนละลายได้ดีในไขมัน จึงควรกินพร้อมอาหาร เพื่อให้ดูดซึมได้ดี และควรรับประทานต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือนขึ้นไป จึงจะเห็นผล

 

ทำไมต้องกินเป็นเม็ด ?

ที่จริงโคคิวเทนมีในพืชผักผลไม้หลายชนิดโดยเฉพาะผักโขม แต่การจะได้โคคิวเทน 30 มก. อันเป็นขั้นต่ำที่ควรได้ต่อวัน ต้องใช้ผักโขมถึง 5 ชามสลัด เป็นต้น แล้วถ้าต้องกินทำนองนี้ทุกวันคงมีน้อยคนที่จะทำได้ ยังต้องคัดล้างสารพิษที่ติดผักสดออกด้วย

ผลเฉลี่ยที่เขาวัดจากอาหารประจำวัน บอกไว้ว่า เราจะได้จากอาหารปกติวันละประมาณ 5 มก. ที่เหลือร่างกายต้องผลิตเอง… ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าแล้วร่างกายผลิตได้หรือเปล่า ?

 

เลือกกินหรือทาดี ?

ชนิดทานั้นหากดูดซึมได้ดี ก็เป็นการออกฤทธิ์เฉพาะที่ แต่การกินทำให้โคคิวเทนไปถึงเนื้อเยื่อทุกส่วน บางคนจึงพบกับความแปลกใจ ที่กินโคคิวเทน เพื่อป้องกันการเหนื่อยเพลีย แต่ถูกทักว่าหน้าเด้งหน้าใส

ใช้โคคิวเทนสังเคราะห์หรือสารสกัดดี ?

เนื่องจากพบว่าโคคิวเทนสังเคราะห์อยู่ในformที่แตกต่างจากที่พบในธรรมชาติ จึงควรพิจารณาใช้โคคิวเทนที่ได้จากการสกัดจากสารธรรมชาติเท่านั้น

 

โคคิวเทนผลิตจากอะไร ?

เคยเข้าใจว่ามาจากเนื้อปลา ผักหญ้าทั้งหลาย แต่อุตสาหกรรมยามีการพัฒนาจนเป็นการเพาะเลี้ยงยีสต์มาสกัดโคคิวเทนได้ ยีสต์นั้นอยู่ในกลุ่มพืชระดับต้นๆ เราคงเคยทราบว่ายีสต์เขามีกลูแคน ทีนี้ก็ทราบอีกว่ายีสต์ยังมีโคคิวเทนให้สกัด

ทำไมจึงใช้ยีสต์สกัด… นอกจากเป็นสารธรรมชาติแล้ว ก็น่าจะเป็นงานระดับอุตสาหกรรม ที่ควบคุมความสะอาดและปัจจัยปนเปื้อนที่ไม่ต้องการได้ ดีกว่าไปตัด ไปหา ขนส่งมาจากธรรมชาติ

น่าจะเป็นด้วยเหตุผลนี้ ทำให้เรามีผลิตภัณฑ์ที่สะอาดใช้ธรรมชาติสรรค์สร้างแล้วสกัดมาใช้ ปลอดภัยจากสารพิษ แถมต้นทุนผลิตลดลง แต่คงไว้ด้วยคุณภาพ

เราทราบว่า AcCh เป็น enzyme ฝ่ายดี ที่ทำให้กระปรี้กระเปร่า พอขาดไปผลคือซึมเศร้า ความดันขึ้น ซึ่งก็เป็นอาการข้างเคียงที่มักพบในผู้ได้ statin ต่อเนื่อง

เกี่ยวกับมะเร็ง มีรายงานผลการศึกษา พบว่า มะเร็งเต้านมหดตัวเล็กลงสัมพันธ์กับปริมาณของโคคิวเทนที่ใช้รักษา สรุปว่าการให้โคคิวเทนขนาด 90 – 390 มก.ต่อวัน มีผลให้คนไข้มะเร็งเต้านม 3 ราย หายสนิท และการกระจายของมะเร็งไปยังตับก็ระงับไปด้วย

แพทย์มักแนะนำโคคิวเทนร่วมกับการฉีดยาคีโม หรือกินยาต้านมะเร็ง เช่น ยารักษามะเร็ง ที่ชื่อ Adriamycin โดยโคคิวเทนช่วยลดพิษของเคมีลงได้ จึงไม่แปลกใจที่พบว่าคนไข้ทาลัสซีเมีย ตลอดจนลิวคีเมีย ล้วนต้องเสริมเติมโคคิวเทน

อย่างไรก็ดีถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังมีข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับมะเร็งและโคคิวเทนน้อยมาก แต่ที่ทราบแน่นอน คือ คนไข้มะเร็งทุกรายจะมีระดับโคคิวเทนในเลือดต่ำกว่าค่ามาตรฐาน

 

หากใช้ได้ผลดี ทำไมไม่แพร่หลาย (ในอเมริกา)

สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเหตุผลเชิงพาณิชย์ เนื่องจากโคคิวเทนเป็นผลงานค้นพบในอเมริกาก็จริง แต่เป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ ไม่มีผู้ได้ประโยชน์ทางการค้า อีกทั้งวัตถุดิบส่วนใหญ่ ล้วนถูกพัฒนาต่อยอด และผลิตในญี่ปุ่น แต่ก็พบว่าในประเทศญี่ปุ่น มีการใช้โคคิวเทนอย่างแพร่หลาย

 

บทบาทในอนาคตของโคคิวเทน มีความหวังว่าโคคิวเทนน่าจะเป็นกองหน้าแห่งยุค ของการปฐมพยาบาลในระดับเซลล์ หรือ เป็นสารหลักในการต่อต้านโรคภัย ด้วยวิถีทางชีวเคมีภายในเซลล์ ยังมีความคืบหน้าเมื่อพบว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านมะเร็ง Adriamycin รวมถึงผู้ป่วยเอดส์ มักมีภาวะขาดโคคิวเทนร่วมด้วย

Dr.Langjoen กล่าวว่า “สำหรับคนปกตินั้นอาจเป็นค่าโง่ ในการกินโคคิวเทนเพื่อป้องกันอาการขาด (ด้วยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีประโยชน์จริงหรือไม่เพียงไร) แต่น่าจะโง่ยิ่งกว่า หากผู้ป่วยที่พร่องโคคิวเทนแล้วไม่หาเติมเข้าไป !”

 

โคคิวเทนกลัวอะไร

โคคิวเทน ถูกทำลายได้จากความร้อนและแสงสว่าง ปกติจะเป็นผงสีส้มอ่อน หากเปลี่ยนสี บ่งชี้ว่าเสื่อมสภาพ จึงควรเก็บไว้ในตู้เย็นและใส่ภาชนะทึบแสงด้วย

 

สรุป

การได้รับโคคิวเทนเพิ่มเติม เหมาะสำหรับ

  1. ผู้สูงอายุ และผู้ที่อายุเกิน 21 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้มีภาวะขาดโคคิวเทน
  2. ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  3. ภาวะความดันโลหิตสูง
  4. ผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย ลิวคีเมีย
  5. ภาวะเหงือกอักเสบ
  6. ผู้ที่ได้รับยาลดไขมัน / ยาลดระดับคอเลสเตอรอล
  7. ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และโรคที่เกิดจากเซลล์สมองเสื่อม
  8. ริ้วรอย ชะลอชรา
  9. อ้วน เบาหวาน
  10. นักกีฬาหรือผู้ที่ต้องใช้พลังงานมาก
  11. ผู้ที่มีอาการชัก (stroke)
  12. ผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะพร่องโคคิวเทน

EasyCookieInfo